คำพิพากษาฎีกา ที่ ๑๕๙๐๒ / ๕๓
ทำบันทึกสละสิทธิ์ ผลประโยชน์หรือเงินอื่นใด คือเป็นการประนีประนอมยอมความกันแล้ว สิทธิ์เรียกร้องเป็นอันระงับไป
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลย ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการขาย ต่อมาวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๙ เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกโครงการฝ่ายวิศวกรรม โจทก์ทำงานตำแหน่งดังกล่าวจนถึงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ได้ลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ ๓๓,๐๐๐ บาท ค่าเปอร์เซ็นต์การขายอัตราร้อยละ ๒๕ จากเปอร์เซ็นต์การขายที่พนักงานซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของโจทก์ได้รับอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขายตามระเบียบการจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายตามสภาพการจ้าง โจทก์จะมีรายได้จากค่าเปอร์เซ็นต์การขายประมาณปีละ ๒๘๕,๖๐๔.๖๘ บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ ๒๓,๘๐๐.๓๙ บาท รวมรายได้ที่โจทก์ได้รับเฉลี่ยเดือนละ ๕๗,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คือ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ จำเลยทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขายโดยปรับลดเปอร์เซ็นต์ของอัตราส่วนค่าเปอร์เซ็นต์การขายจาก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือ ๘ เปอร์เซ็นต์ ของกำไรจากการขายสินค้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าอัตราเปอร์เซ็นต์การขาย โจทก์และพนักงานอื่นๆ ไม่ได้ให้ความยินยอมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรายได้ลดลงจากที่เคยได้ค่าเปอร์เซ็นต์การขายอัตราร้อยละ ๒๕ ของ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือร้อยละ ๒๕ ของ ๘ เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นมูลค่า ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ทั้งหมดจากค่าเปอร์เซ็นต์การขายที่โจทก์เคยได้รับ กล่าวคือ โจทก์เคยได้รับรายได้ส่วนนี้เฉลี่ยปีละ ๒๘๕,๖๐๔.๖๘ บาท เหลือเพียง ๒๒๘,๔๘๔ บาท รายได้ขาดไปจำนวน ๕๗,๑๒๐ บาท เมื่อโจทก์ลาออกโจทก์มีสิทธิได้รับค่าเปอร์เซ็นต์การขายจากพนักงานขายที่โจทก์กำกับดูแลอยู่จนกว่าลูกค้าของจำเลยจะผ่อนชำระค่าสินค้าที่ซื้อจากจำเลยปกติแล้วจะใช้เวลาการผ่อนชำระสินค้าไม่น้อยกว่า ๑ ปีขึ้นไป นับแต่วันที่โจทก์ลาออกจำเลยจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์การขายให้โจทก์งวดเดียว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจากการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขายต่ำลงนับแต่วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๓ ถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เป็นเวลา ๑๖ เดือน แต่โจทก์คิดเพียง ๑๒ เดือน โจทก์มีรายได้จากค่าเปอร์เซ็นต์การขายเฉลี่ยปีละ ๒๘๕,๖๐๔.๖๘ บาท การปรับลดทำให้รายได้โจทก์หายไปร้อยละ ๒๐ ของยอดเงินดังกล่าวเป็นเงิน ๕๗,๑๒๐ บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายนับแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ที่โจทก์ลาออก แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เดือนเดียวคือเดือนมิถุนายน ๒๕๔๔ หลังจากนั้นจำเลยไม่ยอมจ่ายให้โจทก์อีกโจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเปอร์เซ็นต์การขายจนกว่าลูกค้าจะชำระหนี้ค่าสินค้าให้จำเลยแล้วเสร็จเป็นเวลาหนึ่งปีขึ้นไป แต่โจทก์ขอคิดเพียงหนึ่งปีจากรายได้เฉลี่ยที่โจทก์เคยได้รับจำนวน ๒๘๕,๖๐๔.๖๘ บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขาย ๓๔๒,๗๒๔.๖๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลยจริงและยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเปอร์เซ็นต์การขายโดยปรับลดเปอร์เซ็นต์ของอัตราส่วนค่าเปอร์เซ็นต์การขายเป็นการเข้าใจของโจทก์ฝ่ายเดียว หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายของจำเลยนั้น บริษัทของจำเลยมีหลายฝ่าย หลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายก็จะเป็นไปตามระเบียบของแต่ละฝ่ายแตกต่างกัน แต่ละฝ่ายของจำเลยสามารถเปลี่ยนแปลงระเบียบขั้นตอนภายในของแต่ละฝ่ายได้ และค่าเปอร์เซ็นต์การขายขึ้นอยู่กับยอดการขายในแต่ละปีไม่เท่ากัน โจทก์ไม่มีสิทธิเอายอดขายปีใดปีหนึ่งเป็นฐานได้ ประกอบกับโจทก์ยื่นหนังสือลาออกโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๔ โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยตกลงและยอมรับว่าโจทก์ไม่มีผลประโยชน์หรือหนี้ใดๆ ที่จะเรียกร้องจากจำเลยอีก จำเลยจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเปอร์เซ็นต์การขายแก่โจทก์จำนวน ๒๒๘,๔๘๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการขาย ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกโครงการฝ่ายวิศวกรรมได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๓,๐๐๐ บาท วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๘ ฝ่ายวิศวกรรมออกประกาศเรื่องขั้นตอนการจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์การขายรายละเอียดตามประกาศเอกสารหมาย ล. ๒ ต่อมาผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวิศวกรรมได้เรียกผู้จัดการฝ่ายต่างๆ มาประชุมเพื่อจัดทำโครงสร้างการจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์การขายให้พนักงานขายในอัตราใหม่ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากมีความเห็นให้ปฏิบัติตามประกาศเอกสารหมาย ล. ๓ โจทก์ได้รับเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายตั้งแต่มีการประกาศเอกสารหมาย ล. ๓ มาโดยตลอด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้ทำความตกลงกับจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่โจทก์ได้รับค่าเปอร์เซ็นต์การขายจากจำเลยและโจทก์ได้ตกลงยินยอมในการเปลี่ยนแปลงค่าเปอร์เซ็นต์การขายตามเอกสารหมาย ล. ๓ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายในส่วนนี้ โจทก์ได้ยื่นหนังสือลาออกได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษ ๔ เดือน และเงินชดเชย (ที่ถูกคือค่าจ้าง) สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้รวมเป็นเงินจำนวน ๑๔๑,๕๒๕ บาท และรับว่าจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลยตามหนังสือเอกสารหมาย ล. ๖
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลย ตามเอกสารหมาย ล. ๖ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเปอร์เซ็นต์การขายจากจำเลยได้อีกหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทำบันทึกตามเอกสารหมาย ล. ๖ ว่า ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลยอีก ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงระงับข้อพิพาทกันได้ เมื่อโจทก์ลงลายมือชื่อโดยสมัครใจย่อมถือว่าโจทก์สละสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกร้องเงินประเภทอื่นอันจะพึงได้รับตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับของจำเลย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องค่าเปอร์เซ็นต์การขายด้วย โดยให้ถือตามข้อความที่ตกลงกันไว้ในเอกสารดังกล่าว เมื่อจำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิพักผ่อนเป็นเงิน ๑๔๑,๕๒๕ บาท และโจทก์ตกลงรับไปโดยโจทก์จะไม่เรียกร้องผลประโยชน์หรือเงินอื่นใดจากจำเลยอีก ข้อตกลงตามบันทึกจึงผูกพันโจทก์ ดังนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินใดๆ ตามสัญญาจ้างที่มีข้อพิพาทอยู่ก่อนวันทำบันทึกดังกล่าวเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นสิทธิที่ระงับไปแล้วตามกฎหมายมาเรียกร้องค่าเปอร์เซ็นต์การขายจากจำเลยอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.