คำพิพากษาฎีกาที่ 3404/2552
อายุความ มูลละเมิดอันมีความผิดทางอาญา หากในคดีอาญาอายุความมากกว่าให้ใช้อายุความตามนั้น
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของโจทก์ประจำที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมร้อยเอ็ด โดยจำเลยที่ 1 ตำแหน่งพนักงานตรวจสายระดับ 3 ประจำแผนกบริการโทรคมนาคม มีหน้าที่ให้เช่าใช้บริการ จัดทำสัญญาตรวจสอบรายได้ค่าบริการและติดตามทวงถามหนี้ค่าบริการโทรคมนาคม จำเลยที่ 2 ตำแหน่งหัวหน้าที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมร้อยเอ็ด มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานและลูกจ้างในสังกัดให้เป็นไปโดยสุจริตตามข้อบังคับคำสั่งและระเบียบแบบแผนของโจทก์และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกบริการโทรคมนาคม มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานในแผนกโทรคมนาคม รวบรวมเงินค่าบริการโทรคมนาคมที่เก็บได้นำส่งที่ทำการไปรษณีย์ร้อยเอ็ดเป็นประจำทุกวันโดยเคร่งครัดและจัดทำบัญชีรับชำระเงินค่าบริการนำส่งแผนกธุรการ ระหว่างเดือนมีนาคม 2534 ถึงเดือนกันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้รับชำระเงินประกันสัญญาค่าติดตั้งและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้มีให้ใช้จากผู้ขอติดตั้งวิทยุโทรคมนาคมและค่าเช่าใช้บริการตามใบแจ้งหนี้ประจำเดือนจากผู้เช่าใช้วิทยุโทรคมนาคม รวมหลายรายเป็นเงินทั้งสิ้น 428,331.30 บาท แล้วไม่นำส่งคืนให้แก่โจทก์ตามระเบียบ แต่ได้ทุจริตยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ภายหลังโจทก์ตรวจสอบพบการกระทำทุจริตดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้หลบหนีไป จำเลยที่ 2 และที่ 3 ประมาทเลินเล่อหรือบกพร่องต่อหน้าที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามระเบียบทำให้จำเลยที่ 1 กระทำทุจริตดังกล่าวขึ้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชอบกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 428,331.30 บาท แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย คิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดชอบทางแพ่งคือ วันที่ 21 กันยายน 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 87,514.55 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 515,845.85 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 515,845.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 428,331.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสั่งให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า หัวหน้าที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมร้อยเอ็ดคนเดิมเคยมีคำสั่งเรื่องการแบ่งส่วนงานของที่ทำการและได้มอบหมายงานให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าแผนกบริการโทรคมนาคม มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานในสังกัดแผนกบริการโทรคมนาคมทั้งหมดโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานในแผนกโทรคมนาคมทั้งสองมีสายการบังคับบัญชาตามลำดับชั้นขึ้นตรงกับหัวหน้าสำนักงาน ตามคำสั่งที่ 02864/2531 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าที่ทำการได้มีคำสั่งที่ 1/2535 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่รับชำระเงินค่าเช่าใช้บริการและติดตามหนี้ค่าบริการโทรคมนาคมทุกประเภทโดยปฏิบัติงานร่วมกันแล้วรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบ และมีคำสั่งที่ 2/2535 เรื่องจัดแบ่งส่วนงานภายใน โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าแผนกโทรคมนาคม มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติงานในแผนก จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงมีหน้าที่เหมือนเดิม การกระทำทุจริตของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับทราบรายงานแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายและกฎระเบียบของโจทก์ทุกประการแล้ว มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องไว้ว่ามูลคดีเกิดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม 2534 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2535 คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดหรือร่วมรับผิดทางแพ่งได้รายงานผลการสอบสวนให้ผู้ว่าการโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 เมื่อนับถึงวันฟ้องจึงเกินเวลา 10 ปีแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30, 448 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (5) ขณะดำเนินคดีนี้มีพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับจึงต้องนำกฎหมายส่วนที่เป็นคุณมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ด้วย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์นำคดีมาฟ้องทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เข้าใจว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำผิดอย่างไร เมื่อใด ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมในทางปฏิบัติจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมร้อยเอ็ดได้มอบหมายและสั่งงานให้พนักงานทุกคนในสังกัดทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าที่ทำการโดยตรง โดยไม่ผ่านจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกจึงเป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 3 จะควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ได้คณะกรรมการสอบสวนวินัยและความรับผิดทางแพ่งได้รายงานผลการสอบสวนให้ผู้ว่าการโจทก์ทราบเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 จึงถือว่าโจทก์ทราบการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จึงเกินกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
ระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยที่ 2 แถลงรับว่า จำเลยที่ 2 ผ่อนชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.9 เป็นเงิน 22,500 บาท แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 120,277.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของโจทก์ประจำที่ทำการสื่อสารโทรคมนาคมร้อยเอ็ด โดยจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจสาย ระดับ 3 ประจำแผนกบริการโทรคมนาคม มีหน้าที่ให้เช่าใช้บริการเครื่องรับ – ส่งวิทยุโทรคมนาคม จัดเก็บเงินค่าประกันสัญญา ค่าธรรมเนียม ค่าอากรจากผู้ได้รับอนุญาตให้เช่าใช้นำส่งแก่โจทก์ตามระเบียบ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าแผนกโทรคมนาคม เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าที่ทำการโทรคมนาคมร้อยเอ็ด เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อมาเมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2534 ถึงเดือนกันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทุจริตต่อหน้าที่เบียดบังยักยอกเงินที่เรียกเก็บจากผู้เช่าใช้บริการของโจทก์แล้วไม่นำส่งเงินเข้าบัญชีโจทก์ตามระเบียบหลายราย รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 428,331.30 บาท ต่อมาโจทก์มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดชอบหรือร่วมรับผิดในทางแพ่ง ตามเอกสารหมาย จ.11 ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้ทำรายงานผลการสอบสวนแจ้งให้ผู้ว่าการโจทก์ทราบครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.21 ต่อมามีการสอบสวนเพิ่มเติม ตามเอกสารหมาย จ.6 และได้นำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดชอบทางแพ่งของโจทก์แล้วมีมติที่ประชุม ตามเอกสารหมาย จ.7 รายงานผู้ว่าการโจทก์ว่าคณะกรรมการที่ปรึกษาเห็นชอบตามที่เสนอว่าจำเลยที่ 1 ผู้กระทำทุจริตต่อหน้าที่แต่เพียงผู้เดียวให้รับผิดเต็มจำนวน ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 บกพร่องในหน้าที่ที่ไม่ตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถทำการทุจริตได้ จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดคนละ 142,777.10 บาท ซึ่งผู้ว่าการโจทก์เห็นชอบตามที่เสนอ จึงลงนามไว้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 หลังจากนั้นกองนิติการของโจทก์จึงมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.8 ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงต้องนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสาม ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะมีเพียงใด ให้คำนึ่งถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยไม่ต้องให้ใช้เต็มจำนวนความเสียหายก็ได้ และไม่ต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง (ที่ถูก วรรคสองและวรรคสุดท้าย) มาตรา 10 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก วรรคสอง) แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวและเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ว่าการโจทก์ได้ลงนามรับทราบเห็นด้วยกับมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา ตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความในเรื่องละเมิด และนอกจากนี้การกระทำของจำเลยทั้งสามยังเป็นการทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาจ้างแรงงานนับแต่วันเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่ทำละเมิดอย่างช้าในปี 2535 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในปี 2546 ก็พ้นกำหนดเวลา 10 ปี แล้วอีกเช่นกันดังนั้นฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงขาดอายุความแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าได้มีหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ภายในอายุความ ตามเอกสารหมาย จ.9 อายุความสำหรับจำเลยที่ 2 จึงสะดุดหยุดลงแล้วเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันแนบท้ายเอกสารหมาย จ.9) และจำเลยที่ 2 ได้ผ่อนชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์แล้วงวดละ 2,500 บาท รวม 9 งวด เป็นเงิน 22,500 บาท ตามเอกสารหมาย ล.11 คงค้างชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้อยู่จำนวน 120,277.10 บาท จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 ซึ่งเป็นงวดที่จำเลยที่ 2 เริ่มผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งในข้อ 2.1 ว่า ศาลแรงงานกลางไม่อาจนำเรื่องกฎหมายเป็นคุณตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสาม และอุทธรณ์ในข้อ 2.2 ทำนองว่า สิทธิเรียกร้องในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นมีผลเริ่มนับแต่วันที่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปเมื่อโจทก์มีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.22 ไม่ใช่นับแต่วันเกิดเหตุหรือวันทำละเมิดตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ในเรื่องหลักเกณฑ์การนำกฎหมายเป็นคุณมาบังคับใช้ ที่บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 นั้น ต้องเป็นกรณีนำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำผิด ฉะนั้นจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาบังคับใช้แก่ความรับผิดทางแพ่งเช่นคดีนี้ไม่ได้ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางนำพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในส่วนที่เป็นคุณมาบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสามคดีนี้จึงไม่ชอบ อุทธรณ์ข้อ 2.1 ของโจทก์จึงฟังขึ้นส่วนเรื่องสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมีผลให้นับแต่เมื่อใดนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติไว้ว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…..” ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายได้นับแต่วันทำละเมิด ซึ่งถือเป็นวันที่ผิดสัญญาจ้างเป็นต้นไป ส่วนการเลิกจ้างนั้นเป็นเพียงผลจากการกระทำผิดสัญญาจ้างต่างหากฉะนั้นโจทก์จะมีคำสั่งไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงานเมื่อใดนั้น ก็ไม่มีผลทำให้ระยะเวลาเริ่มนับอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีจำเลยทั้งสามผิดสัญญาจ้างเปลี่ยนแปลงไปที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าอายุความสิทธิเรียกร้องในกรณีผิดสัญญาจ้างแรงงานมีอายุความทั่วไป 10 ปี นับแต่วันเกิดเหตุหรือวันละเมิดจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อ 2.2 ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.3 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ฟ้องยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์เบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไป เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้อง 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) แม้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ถูกฟ้องคดีอาญาก็ตาม ก็ต้องใช้อายุความ 15 ปี มาบังคับใช้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ที่บัญญัติความว่าถ้าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายอาญา และมีกำหนดอายุความอาญายาวกว่าที่กำหนดไว้ในวรรคแรก ก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่ามาบังคับใช้นั้น หมายถึงให้บังคับใช้ได้เฉพาะผู้ทำละเมิดหรือผู้ร่วมกระทำละเมิดที่เกี่ยวกับความผิดอาญาเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่ทำการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดอาญาด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ร่วมกระทำการทุจริตแต่อย่างใดไม่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องมาร่วมรับผิดด้วยก็เนื่องจากบกพร่องในหน้าที่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถทำการทุจริตได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ภายในอายุความดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงยังไม่ขาดอายุความเช่นกัน ส่วน จำเลยที่ 3 ขาดอายุความแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดนัดและขาดพิจารณาศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ปัญหานี้แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 428,331.30 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด แต่โจทก์ขอนับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2543 จึงกำหนดให้เพียงนั้น สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น แม้มูลหนี้ละเมิดจะเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ก็ตาม แต่เนื่องจากมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดชอบทางแพ่งของโจทก์เห็นชอบให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดเพียงจำนวนหนึ่งในสามเป็นเงิน 142,777.10 บาท เท่านั้น ซึ่งโจทก์ก็เห็นชอบด้วย ตามเอกสารหมาย จ.7 ทั้งกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลังก็เห็นชอบด้วยตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสามตามจำนวนหนี้ดังกล่าวและยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้และผ่อนชำระหนี้จากยอดเงินดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.8 และจ.9 แล้ว ฉะนั้นจำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เต็มตามจำนวนค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ จำเลยที่ 2 คงต้องร่วมรับผิดด้วยในวงเงินเพียง 142,777.10 บาท เท่านั้น และเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้ผ่อนชำระเงินคืนโจทก์แล้ว 9 งวด งวดละ 2,500 บาท รวมชำระให้แล้ว 22,500 บาท ตามเอกสารหมาย ล.11 จึงคงเหลือหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมชำระคืนโจทก์เพียง 120,277.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดงวดที่ 10 คือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปเท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 428,331.30 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2543 เป็นต้นไป โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 120,277.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากนั้นให้เป็นตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง