วันหยุดพักผ่อนประจำปี
สวัสดีสมาชิกและทุกท่านที่เข้าเยี่ยมชม ไม่ได้มาพบกันซะนาน ตั้งแต่ต้นปี ๕๔ เนื่องจากติดภารกิจหลายเรื่อง ต้องขออภัยมา ณ.ที่นี้ ด้วยครับ
วันนี้ จึงขอหยิบยก ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ใกล้ตัวเรา และมีหลายคนเคยสอบถามมาเป็นจำนวนมาก คือ วันหยุดพักผ่อนประจำปี สิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี และการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงาน มาตรา ๓๐ กำหนดไว้ว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้
นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อๆไปได้
สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปีนายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้”
มาตรา๖๔ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงานหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา๒๘มาตรา๒๙และมาตรา๓๐ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา๖๒และมาตรา๖๓เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
มาตรา ๖๗ “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา ๑๑๙ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๓๐
ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณีตามมาตรา ๑๑๙ หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๓๐”
องค์ประกอบกฎหมายที่สำคัญ คือ
๑. ลูกจ้างทำงานครบ ๑ ปี
( การนับอายุงาน ให้นับแต่วันเริ่มต้นเข้าทำงานวันแรกจนครบ ๓๖๕ วัน หรือ ๑ ปี ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลา หรือสัญญาจ้างทดลองงาน หรือสัญญาจ้างทั่ว ๆ ไป ก็ตาม ให้นับระยะเวลารวมเข้าด้วยกันทั้งหมด )
๒. มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า ๖ วันทำงาน
สิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี ๖ วันทำงาน ให้นับเฉพาะวันทำงาน เท่านั้น วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดอื่น ๆ นายจ้างกำหนด ไม่ให้นับรวมด้วย แม้ว่าวันที่ในการลาหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น จะมีวันหยุดตามประเพณี หรือมีวันหยุดประจำสัปดาห์คั่นหรือไม่ก็ตาม ไม่ให้นับวันหยุดดังกล่าวรวมด้วย
๓. นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้าง
๔. หรือ ตกลงกับลูกจ้างกำหนดวันหยุดล่วงหน้าได้
๕. นายจ้างและลูกจ้าง สามารถตกลงกันสะสมวันหยุด หรือเลื่อนวันหยุดพักผ่อน ฯ ได้
๖. ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบ ๑ ปี นายจ้างสามารถกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อน ฯ ตามส่วนก็ได้
หากพิจารณาตามข้อกฎหมายดังกล่าว สามารถ สรุปประเด็น ง่าย ๆ ได้ดังนี้ คือ
พนักงานทำงานครบหนึ่งปี ไม่ว่าจะเข้าทำงานวันไหนก็ตาม นับไป ๓๖๕ วัน หรือ ๑ ปี เมื่อครบ ๑ ปี ในวันใด สิทธิของลูกจ้างเกิดทันที คือ มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๖ วัน
แม้ลูกจ้างมีสิทธิ แต่หน้าที่กำหนดวันหยุด ฯ เป็นของนายจ้าง หน้าที่ของนายจ้าง คือ กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิเป็นการล่วงหน้า ซึ่งการกำหนดในที่นี้ คือ การกำหนดวัน เช่น กำหนดเป็นวันที่ไว้ล่วงหน้า ตลอดทั้งปี วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ,วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๔........... เป็นต้น
หรืออาจกำหนดเป็นช่วงวันเวลาได้ เช่น ให้ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ตั้งแต่ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หรือ ให้ใช้สิทธิให้หมดภายในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ของทุกปี อย่างนี้เป็นต้น
กรณีอย่างนี้ ถือว่า นายจ้างได้กำหนดวันเวลา หรือช่วงระยะเวลาที่ให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว หากลูกจ้างไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ตามวันเวลาที่นายจ้างกำหนด ถือว่าสละสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปีนั้น ๆ
กรณีนายจ้างกำหนดไว้ในระเบียบ ว่า การลาหยุดพักผ่อนประจำปี ให้ลูกจ้างยื่นความประสงค์ขอลาหยุดพักผ่อน ต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และต้องได้รับอนุมัติให้หยุดก่อน จึงจะสามารถหยุดได้ นั้น เป็นเพียงการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอนุมัติให้หยุดเท่านั้น ไม่ถือว่ายนายจ้างได้กำหนดให้ลูกจ้างใช้สิทธิแล้ว
นายจ้างกำหนดหรือไม่กำหนดให้ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี มีผลอย่างไร
หากนายจ้างไม่ได้กำหนดวันให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิ ถือว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่งผลให้ลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิในปีนั้น ๆ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามจำนวนวันที่ลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิแทน เสมือนหนึ่งมาทำงานตามปกติ ตามมาตรา ๖๔ เช่น พนักงานรายวัน จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ฯ พนักงานรายเดือนจะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า ๑ เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ฯ ตามมาตรา ๖๒
นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตาม มาตรา ๖๗ ด้วย คือ หากเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๑๙ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้สิทธิในปีนั้นตามส่วน
หรือหากลูกจ้างมีความประสงค์ขอลาออก นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับด้วย
การสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปี
วันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างและลูกจ้าง สามารถตกลงกันสะสมได้ เช่น นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ๖ วัน โดยนายจ้างลูกจ้างตกลงให้ลูกจ้างสามารถสะสมวันหยุดได้ไม่เกิน ๒ ปี หรือ รวมกันสูงสุดไม่เกิน ๑๒ วัน เป็นต้น
นั่นหมายความว่า ในปีที่ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๖ วัน หากลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิ ลูกจ้างมีสิทธิสะสมและนำไปใช้สิทธิหยุดในปีถัดไปได้ เช่น
ปี ๒๕๕๔ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๖ วัน ลูกจ้างไม่ได้ใช้สิทธิเลย
ดังนั้นในปี ๒๕๕๕ ลูกจ้างจึงมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้รวม ๑๒ วัน คือของปี ๒๕๕๔จำนวน ๖ วัน และของปี ๒๕๕๕ อีกจำนวน ๖ วัน
มีปัญหาต่อว่า หากพนักงานไม่ได้ใช้สิทธิเลย ทั้งสองปี คือ ปี ๒๕๕๔ และ ปี ๒๕๕๕ แล้วในปี ๒๕๕๖ ลูกจ้างจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี กี่ วัน
คำตอบคือ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๑๒ วัน คือของปี ๒๕๕๕ และ ของปี ๒๕๕๖ เท่านั้น ส่วนสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของปี ๒๕๕๔ ถือว่าเลยกำหนด ๒ ปี ลูกจ้างไม่ใช้สิทธิ จึงถือว่าสละสิทธิ
จากกรณีตัวอย่างข้างต้น มีปัญหาต่อว่า หากลูกจ้างใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ในปี ๒๕๕๔ ไป ๓ วันใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ในปี ๒๕๕๕ ไป ๓ วัน
ถามว่า ในปี ๒๕๕๖ ลูกจ้างจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน กี่ วัน
คำตอบคือ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในปี ๒๕๕๖ จำนวน ๑๒ วัน
เนื่องจาก ในปี ๒๕๕๔ ใช้ไป ๓ วัน สะสมได้ในปีถัดไป คือ ปี ๒๕๕๕ จำนวน ๓ วัน รวมเป็น ๙ วัน เมื่อใช้สิทธิไปอีก ๓ วัน จึงเหลือสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของปี ๒๕๕๕ อีก ๖ วัน
สิทธิในปี ๒๕๕๕ สามารถสะสมไปใช้ในปี ๒๕๕๖ ได้ ตามที่นายจ้างกำหนด คือสะสมไม่เกิน ๒ ปี หรือไม่เกิน ๑๒ วัน
ดังนั้นในปี ๒๕๕๖ ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๑๒ วัน
มีปัญหาว่า แล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของปีใด
คำตอบ โดยปกติวิสัย ภาระหนี้สินหรือภาระใด ๆ ที่เกิดขึ้นก่อน การชำระหนี้สินหรือการปลดภาระที่เกิดขึ้น ย่อมต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ดังนั้นแม้ไม่กำหนดไว้ว่า จะให้ลูกจ้างใช้สิทธิของปีใดก่อน ก็ย่อมพิจารณาได้ว่า สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง สิทธิของปีใดเกิดขึ้นก่อน ก็ย่อมต้องใช้สิทธิของปีนั้นเป็นลำดับแรกจนครบถ้วน
กรณีปัญหาหากต้องการความชัดเจน นายจ้างก็สามารถกำหนดเงื่อนไขไว้ได้ เช่น การใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ให้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้ครบถ้วนก่อน หรือกำหนดว่า การใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม ให้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเรียงลำดับตามปีปฏิทิน เป็นต้น อย่างนี้ก็หมดปัญหาข้อโต้แย้งว่าเป็นการใช้สิทธิของปีใดได้ครับ
ไสว ปาระมี