ฎีกา 2557 – 2559 /2552
ลักษณะงานที่ไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทการ์ดิเนีย ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ครั้งสุดท้ายโจทก์ทั้งสามทำหน้าที่พนักงานขายโดยโจทก์ที่ 1 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,520 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,500 บาท และโจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 5,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 และวันที่ 25 ของทุกๆเดือน จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อจำเลยว่าบริษัทนายจ้างสั่งให้โจทก์ทั้งสามทำงานล่วงเวลาแต่ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้จำเลยพิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งที่ 4/2549 ลงวันที่ 26 มกราคม 2549 ว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสามต้องไปทำงานนอกสถานที่ไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา โจทก์ทั้งสามเห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากงานที่โจทก์ทั้งสามทำ เป็นงานที่ต้องเริ่มต้นโดยโจทก์ทั้งสามต้องตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานเวลา 5 นาฬิกา แล้วนำสินค้าขึ้นรถเพื่อไปส่งตามร้านค้าต่างๆ จากนั้นโจทก์ทั้งสามก็จะกลับไปที่บริษัทนายจ้าง ในแต่ละวันงานจะเสร็จช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร การทำงานให้บริษัทนายจ้างส่วนที่เกินแปดชั่วโมงต่อวันจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 และ 63 ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 4/2549 ลงวันที่ 26 มกราคม 2549
จำเลยให้การว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้วเนื่องจากจำเลยได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามและของบริษัทการ์ดิเนีย ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายจ้างของโจทก์ทั้งสามแล้ว พิเคราะห์ได้ว่า บริษัทนายจ้างของโจทก์ทั้งสามซึ่งประกอบกิจการผลิตขนมปังได้จ้างโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ต่างๆ กันโดยโจทก์ที่ 1 ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานขายเขต โจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่พนักงานขายและเก็บเงิน และโจทก์ที่ 3 ทำหน้าที่พนักงานขับรถ โจทก์ทั้งสามต้องไปรับสินค้า (ขนมปัง) ไปส่งให้แก่ลูกค้าตามเขตรับผิดชอบของแต่ละคนพร้อมกับเก็บเงินให้แก่บริษัทนายจ้างซึ่งงานของโจทก์ทั้งสามมีลักษณะที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (6) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทการ์ดิเนีย ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานขาย โจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่พนักงานขาย ลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสามเป็นการทำงานนอกสถานที่ของบริษัทนายจ้าง กล่าวคือ โจทก์ทั้งสามจะต้องไปรับสินค้า(ขนมปัง) ที่บริษัทนายจ้างแล้วนำสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าตามเขตพื้นที่ของโจทก์แต่ละคนพร้อมกับเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้ามาให้แก่บริษัทนายจ้าง ซึ่งบริษัทนายจ้างไม่สามารถควบคุมดูแลและกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนของโจทก์ทั้งสามได้ เมื่อเสร็จงานโจทก์ทั้งสามต้องกลับเข้าไปที่บริษัทนายจ้างและส่งมอบเงินที่เก็บจากลูกค้าให้แก่บริษัทนายจ้างตามข้อบังคับของบริษัทนายจ้างระบุไว้ว่าพนักงานขายไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้ววินิจฉัยว่า ถึงแม้ในแต่ละวันก่อนเริ่มงานโจทก์ทั้งสามจะต้องเข้าไปที่บริษัทนายจ้างเพื่อรับสินค้าและหลังจากเสร็จงานแล้วก็จะต้องกลับเข้าไปที่บริษัทนายจ้างอีกก็ตามก็ไม่ใช่ส่วนที่เป็นงานหลัก โดยงานในส่วนที่เป็นงานหลักของโจทก์ทั้งสาม คือ การนำสินค้าของบริษัทนายจ้างไปส่งให้แก่ลูกค้าพร้อมกับเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้ามาให้แก่บริษัทนายจ้างเมื่องานในส่วนที่เป็นงานหลักดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามเป็นการทำงานที่ต้องไปทำนอกสถานที่ตั้งของบริษัทนายจ้าง โดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ ลักษณะหรือสภาพการทำงานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (6) เมื่อบริษัทนายจ้างไม่ได้มีข้อตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่โจทก์ทั้งสาม ทั้งยังมีการระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ตามเอกสารหมาย จล.8 ข้อที่ 16 ว่าพนักงานขายไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 ดังนั้น คำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยที่ 4/2549 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งจำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าลักษณะงานของโจทก์ทั้งสามซึ่งทำหน้าที่พนักงานขายนั้น ในแต่ละวันโจทก์ทั้งสามจะต้องไปรับสินค้าประเภทขนมปังที่บริษัทการ์ดิเนีย ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายจ้าง แล้วนำสินค้านั้นออกไปส่งให้แก่ลูกค้าตามพื้นที่รับผิดชอบของโจทก์แต่ละคนพร้อมกับเก็บเงินค่าสินค้าส่งให้แก่บริษัทนายจ้างด้วย และตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามจะต้องเข้าไปรับสินค้าก่อนเวลา 5.30 นาฬิกา แล้วบริษัทนายจ้างจะมีค่าตอบแทนพิเศษให้ แต่ถ้าไปหลังจากเวลาดังกล่าวก็ไม่มีความผิด นอกจากค่าจ้างตามปกติแล้ว โจทก์ทั้งสามยังมีสิทธิได้รับค่าคอมมิสชั่นหากทำยอดขายถึงเป้าที่บริษัทนายจ้างตั้งไว้และบริษัทนายจ้างได้จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 3 วันละ 90 บาทต่อคน และให้ค่าโทรศัพท์เดือนละ 300 บาทต่อคน ส่วนโจทก์ที่ 2 จะได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 3,000 บาท การทำงานแต่ละวันจะไม่ได้เข้าทำงานและเลิกงานตามเวลาทำงานปกติของพนักงานแต่จะขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามประการเดียวว่า บริษัทการ์ดิเนีย ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด นายจ้าง จะต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานให้โจทก์ทั้งสามหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสามต้องเข้าไปที่บริษัทนายจ้างเพื่อรับสินค้าและต้องกลับเข้าบริษัทนายจ้างเพื่อส่งมอบเงินที่เก็บจากลูกค้าได้ให้นายจ้าง โดยโจทก์ทั้งสามต้องบันทึกบัตรลงเวลาทำงาน จึงมิใช่งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (6) เห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานเอกสารหมาย จล.8 ข้อ 7 กำหนดวันเวลาทำงานของพนักงานเป็นสองประเภทคือ ข้อ 7.1 พนักงานประจำสำนักงาน กำหนดวันเวลาทำงานปกติในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 8.15 ถึง 17.15 นาฬิกา และกำหนดวันเวลาทำงานปกติในวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 8.15 ถึง 12.15 นาฬิกาข้อ 7.2 พนักงานขายและพนักงานกะ กำหนดเพียงว่าพนักงานขายทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน โดยไม่ได้กำหนดเวลาทำงานปกติเช่นเดียวกับพนักงานประจำสำนักงาน โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นพนักงานขายจึงมีเวลาทำงานปกติในวันหนึ่งไม่เกินแปดชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23ลักษณะงานของโจทก์ทั้งสามที่ต้องรับสินค้าออกไปส่งและเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้านอกบริษัทนายจ้าง และกลับเข้าบริษัทนายจ้างในแต่ละวันโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอนได้เพราะเป็นไปตามสภาพการจราจรในแต่ละวัน จึงเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (6) โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541มาตรา 61 และ 63 แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทำงานให้บริษัทนายจ้างโดยมีส่วนที่เกินกว่าวันละแปดชั่วโมงตามสำเนาใบบันทึกเวลาทำงาน เอกสารหมาย จล.4 แผ่นที่ 5 ซึ่งตามบันทึกคำให้การของโจทก์ทั้งสามตามเอกสารหมาย จล.2 ระบุว่าบริษัทนายจ้างให้โจทก์ทั้งสามทำงานเกินกว่าวันละแปดชั่วโมงโดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ จึงขอให้บริษัทนายจ้างจ่ายย้อนหลังให้ในเวลาทำงานสองปีนั้นพอแปลได้ว่าโจทก์ทั้งสามขอให้บริษัทนายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานส่วนที่ทำงานเกินกว่าวันละแปดชั่วโมง ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา65 วรรคหนึ่ง แม้จะบัญญัติให้ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ก็ได้บัญญัติต่อไปให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ดังนั้นหากในการทำงานของโจทก์ทั้งสามสองปีก่อนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน โจทก์ทั้งสามทำงานให้บริษัทนายจ้างเกินกว่าวันละแปดชั่วโมงโจทก์ทั้งสามก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ แต่เนื่องจากสิทธิของโจทก์ทั้งสามที่จะได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวมีผลถึงหน้าที่ของบริษัทนายจ้างที่จะต้องถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าตอบแทนและบริษัทนายจ้างยังไม่ได้เข้าเป็นคู่ความในคดี ประกอบกับศาลแรงงานกลางยังมิได้ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามทำงานในสองปีก่อนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเกินกว่าวันละแปดชั่วโมงหรือไม่ จำนวนเท่าใด และโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเพียงใด จึงเห็นสมควรเรียกบริษัทนายจ้างให้เข้ามาเป็นจำเลยที่ 2 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57 (3)(ข) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาในปัญหาดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางหมายเรียกบริษัทการ์ดิเนีย ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยที่ 2 แล้ว ดำเนินกระบวนพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำของการทำงานสองปีก่อนยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ เพียงใด และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี