ปิดกิจการชั่วคราว หรือ หยุดกิจการชั่วคราว
กรณีบริษัท ฯ ประสบภัยอันตรายอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินใหว พายุเข้า เป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ หรือ
ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หลายบริษัท ฯ อาจต้องประสบกับปัญหาทางการเงิน งานไม่มี หนี้เพิ่ม คนล้นงาน แต่นายจ้างบางรายอาจไม่ต้องการลดหรือเลิกจ้างพนักงาน นายจ้างอาจใช้วิธีการลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ลดสวัสดิการ เป็นต้น
มาตรการหนึ่งที่นายจ้างสามารถนำมาใช้ก่อนถึงวิธีการเลิกจ้าง ก็คือ การหยุดกิจการหรือปิดกิจการเป็นการชั่วคราว
เราลองศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่วกับเหตุการณ์ทั้งสองกรณีดูครับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 กำหนดว่า “ ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน
ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ”
หลักเกณฑ์ที่ต้องนำมาใช้เกี่ยวกับการหยุดกิจการชั่วคราว คือ
- มีเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว
เหตุจำเป็น เช่น ประสบปัญหาด้านการเงิน การตลาด คำสั่งซื้อสินค้าลดลงมาก คำสั่งผลิตลดลง ทำให้กระบวนการผลิตได้รับผลกระทบ หรือลดลง เป็นต้น
หยุดกิจการชั่วคราว คือ การกำหนดวันหยุดปิดกิจการเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งช่วงใด หรือหลายช่วงต่อเนื่องกัน
- การหยุดกิจการนั้นมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย
คำว่า “เหตุสุดวิสัย”หมายความว่า เหตุใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ ทั้งจากผู้ประสบภัยเองหรือบุคคลใกล้เคียง แม้จะได้ระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในสภาวะเช่นนั้น อาทิเช่น
น้ำท่วม พายุเข้า แผ่นดินไหว ซึ่งนายจ้างไม่สามารถเตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้ ทำให้บริษัท โรงงาน หรือสถานประกอบการได้รับความเสียหายและต้องปิดปรับปรุง ซ่อมแซม หรือเป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ถือว่า เป็นสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างไม่อาจป้องกันได้ เหตุที่ต้องให้ลูกจ้างหยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัย นายจ้างจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้าง เพราะถือว่าการจ่ายค่าจ้างด้งกล่าวตกเป็นเหตุพ้นวิสัยเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างในระหว่างปิดกิจการ
- หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน
หากเข้าองค์ประกอบเหตุที่ต้องหยุด นายจ้างสามารถกำหนดให้หยุดได้ แม้บางส่วน เช่น บางฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ เฉพาะฝ่ายผลิต หรือเฉพาะในส่วนออฟฟิศ หรือ ทั้งหมด ทั้งโรงงาน ก็ได้
- จ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ปิดกิจการไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างปกติที่ลูกจ้างได้รับก่อนปิดกิจการชั่วคราว
ก่อนปิดกิจการ ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเท่าใด ให้คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ตลอดเวลาที่ให้ลูกจ้างหยุด ไม่ว่าพนักงานรายวันหรือรายเดือน โดยสามารถคำนวณได้ตามประเภทของลูกจ้าง
- แจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่าสามวันทำการ
การแจ้ง ต้องทำเป็นหนังสือ ระบุเหตุจำเป็น ผลกระทบ จำนวนลูกจ้างหรือ ฝ่าย หรือทั้งหมด ที่ต้องการให้หยุด กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนชัดเจน ระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุด แจ้งให้ลูกจ้างทราบ อาจเป็นประกาศและส่งสำเนาให้ หรือให้ลงชื่อรับทราบก็ได้ และต้องส่งให้พนักงานตรวจแรงงานพื้นที่ หรือพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสามวันทำการ ก่อนเริ่มหยุดหรือปิดกิจการ