คำพิพากษาฎีกา 7719 - 7754 /2551
ตกลงเหมาจ่ายเบี้ยเลี้ยงในการขับรถรับส่งท่องเที่ยวสูงกว่าอัตราที่ควรได้รับถือว่าจ่ายค่าล่วงเวลาโดยชอบแล้ว
คดีทั้งสามสิบหกสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอื่นอีกสามสิบสำนวน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสิบหกสำนวนนี้ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 19 ที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 34 ที่ 39 ถึงที่ 50 ที่ 52 และที่ 53 ตามลำดับ แต่คดีอื่นยุติไปแล้วโดยโจทก์ถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางบางส่วน และยุติไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางบางส่วน โดยนายกมล พิชัย นายพิรุณ เครือจันทร์ นายทองคำ ปราณีดุดสี นายไพรัตน์ พลแสวง นายสัมฤทธิ์ เข็มนาค และนายวันชัย บุญโญปกรณ์ ซึ่งเป็นโจทก์รวม 6 คน ขอถอนอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสามสิบหกสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสามสิบหกสำนวนฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการรับขนส่งคนโดยสาร (นักท่องเที่ยว) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เมื่อระหว่างปี 2520 ถึงปี 2547 โจทก์ทั้งสามสิบหกเข้าทำงานกับจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,100 บาท ต่อคน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ในระหว่างทำหน้าที่พนักงานขับรถโจทก์ทั้งสามสิบหกต้องทำงานต่อเนื่องติดต่อกันไปจนเสร็จตามรายการการท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ในแต่ละครั้งโดยปฏิบัติงานต่อเนื่องประมาณ 5 ถึง 7 วัน แล้วแต่จำเลยจะกำหนด ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ทั้งสามสิบหกมีเวลาทำงานตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกาเวลากระหว่าง 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา และกำหนดให้โจทก์ทั้งสามสิบหกได้รับค่าล่วงเวลาในวันทำงานไม่น้อยกว่าเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง จำนวนชั่วโมงทำงานนอกเวลาทำงานปกติเป็นเวลาทำงานล่วงเวลา จำเลยสั่งให้โจทก์ทั้งสามสิบหกทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและโจทก์ทั้งสามสิบหกปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาในการทำงานให้ โจทก์ทั้งสามสิบหกขอเรียกค่าล่วงเวลาในวันทำงานนับจากวันฟ้องย้อนหลังไปเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2545 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2547 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสามสิบหกสำนวนให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามสิบหกเคลือบคลุม โจทก์ทั้งสามสิบหกทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ มีหน้าที่ขับรถยนต์ไม่ประจำทาง ลักษณะงานไม่มีเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน ทำงานเป็นช่วง นำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีค่าล่วงเวลาที่เป็นข้อบังคับทั่วไปมาใช้ไม่ได้ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่ได้กำหนดการคิดล่วงเวลาของพนักงานขับรถ แต่มีประเพณีปฏิบัติมานานหลายปีว่าพนักงานขับรถทุกคนมีเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้ในอัตราเท่ากันทุกคนและจ่ายค่าล่วงเวลาทุกครั้งที่สิ้นสุดการปฏิบัติงานในแต่ละครั้ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) และกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในงานขนส่งเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ไม่ใช่อัตราเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงตามคำฟ้อง จำเลยประกอบธุรกิจให้บริการรถยนต์เช่าเหมาคันแก่บริษัทนำเที่ยว จำเลยมีข้อตกลงกับบริษัทนำเที่ยวผู้เช่ารถยนต์ให้บริษัทนำเที่ยวโดยมัคคุเทศก์เป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่พนักงานขับรถทุกครันในอัตราวันละประมาณ 300 บาท ถึง 500 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบหกได้ไปเรียบร้อยแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามสิบหกฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาอีกเป็นการเรียกค่าล่วงเวลาซ้ำซ้อน ตามตารางคำนวณค่าล่วงเวลาท้ายคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามสิบหกตั้งเวลาทำงานล่วงเวลาได้เดือนละ 375 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วโจทก์แต่ละคนทำงานล่วงเวลาวันละ 14.42 ชั่วโมง (เฉลี่ยจากการทำงานเดือนละ 26 วัน) รวมกับเวลาทำงานวันละ 9 ชั่วโมง โจทก์แต่ละคนทำงานวันละประมาณ 23 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์โดยสารไม่ประจำทาง โดยให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้เช่าเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยว โจทก์ทั้งสามสิบหกเป็นพนักงานขับรถของจำเลย ได้รับเงินเดือนๆละ 5,100 บาท โจทก์ทั้งสามสิบหกทำหน้าที่ขับรถนำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวโดยมีมัคคุเทศก์เป็นผู้นำทาง การปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 7 วัน เมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่แต่ละครั้งมัคคุเทศก์เป็นผู้จ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเหมาจ่ายวันละ 250 บาท ถึง 300 บาท และเงินรายได้พิเศษอื่น โจทก์แต่ละคนปฏิบัติหน้าที่เดือนละประมาณ 3 ถึง 5 ครั้ง เดือนตุลาคม 2547จำเลยแจ้งเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและรายได้พิเศษอื่นโดยให้มัคคุเทศก์มอบเงินแก่พนักงานขับรถนำมามอบให้แก่จำเลย แล้วจำเลยเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่พนักงานขับรถ แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามสิบหกเป็นพนักงานขับรถ ทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) และโจทก์ทั้งสามสิบหกไม่ได้ให้ความยินยอมทำงานล่วงเวลาเป็นหนังสือแก่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอันจะมีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 3 รายงานการใช้รถตามเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.11 ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2545 โจทก์ทั้งสามสิบหกทำงานเกินเวลาทำงานปกติตั้งแต่วันละ 8 ชั่วโมง ขึ้นไป อยู่ระหว่าง 1 ถึง 8 ครั้ง รับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามสิบหกทำงานล่วงเวลาวันละ 8 ชั่วโมง แม้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 3 วรรคสอง นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบหกได้ทำงานไปแล้วจึงชอบที่จะได้รับค่าตอบแทนตามผลงานที่ทำ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำซึ่งเป็นอัตราเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามสิบหกจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเพียงเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานปกติหรือได้รับในอัตราเพียง 1 เท่า อัตราค่าล่วงเลา 1.5 เท่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยใช้เฉพาะพนักงานประจำสำนักงานเท่านั้น โจทก์ทั้งสามสิบหกได้รับค่าจ้างในวันทำงานปกติเดือนละ 5,100 บาท คำนวณเป็นค่าจ้างรายชั่วโมงละ 21.25 บาทโจทก์ทั้งสามสิบหกทำงานล่วงเวลาวันละ 8 ชั่วโมง เป็นค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาวันละ 170 บาท โจทก์ทั้งสามสิบหกจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาวันละ 170 บาท โจทก์ทั้งสามสิบหกได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจากการทำงานทุกวันที่ออกปฏิบัติหน้าที่วันละ 250 บาท ถึง 300 บาท เงินค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายได้รวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาไว้แล้วโดยบริษัทนำเที่ยวลูกค้าของจำเลยหรือมัคคุเทศก์จ่ายให้โจทก์ทั้งสามสิบหกอันเป็นการจ่ายแทนจำเลย ซึ่งเกินจำนวนค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาที่โจทก์ทั้งสามสิบหกมีสิทธิได้รับ โจทก์ทั้งสามสิบหกจึงได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาครบถ้วนแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 17 ถึงที่ 19 ที่ 23 ที่ 25 ที่ 27 ที่ 29 ที่ 31 ที่ 32 ที่ 34 ที่ 39 ถึงที่ 50 ที่ 52 และที่ 53 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญญาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบหกว่าเงิน "ค่าเบี้ยเลี้ยง" ที่โจทก์ทั้งสามสิบหกได้รับจากบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์เป็น "ค่าตอบแทน" การทำงานล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า จำเลยให้บริษัทนำเที่ยวเช่ารถโดยมีการทำสัญญาจ้างขนส่งด้วยรถโดยสารปรับอากาศตามเอกสารหมาย ล.2 และจำเลยให้พนักงานขับรถของจำเลยทำหน้าที่ขับรถให้บริษัทนำเที่ยวผู้เช่ารถ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่ายมัคคุเทศก์ให้นำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวตามสถานที่ที่กำหนด เห็นว่า ลักษณะงานของพนักงานขับรถรวมถึงโจทก์ทั้งสามสิบหกเป็นการขับรถซึ่งเป็นงานที่ต้องทำนอกสำนักงานของจำเลย ไม่ใช่งานที่ทำในสำนักงาน ในระหว่างปฏิบัติงานโจทก์ทั้งสามสิบหกต้องปฏิบัติตามคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวที่สั่งผ่านมัคคุเทศก์ เท่ากับจำเลยมอบการบังคับบัญชาในระหว่างปฏิบัติงานของโจทก์ทั้งสามสิบหกให้บริษัทนำเที่ยว การทำงานล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของบริษัทนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ ตามเอกสารหมาย ล.2 กำหนดให้บริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งสามสิบหก ในขณะเดียวกันจำเลยก็ยังคงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามสิบหกเป็นเงินเดือนซึ่งเป็นค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานขับรถอันมีลักษณะงานที่ทำนอกสำนักงานของจำเลยอยู่แล้ว เงิน "ค่าเบี้ยเลี้ยง" ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายหรือจ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้โจทก์ทั้งสามสิบหกเป็นเงินที่จ่ายตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในระหว่างที่โจทก์ทั้งสามสิบหกปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งและอยู่ในอำนาจบังคัญบัญชาของบริษัทนำเที่ยวที่เรียกว่า "ค่าล่วงเวลา" นั่นเอง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 โจทก์ทั้งสามสิบหกไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในการทำงานงานล่วงเวลา แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ดังนั้นเงินที่เรียกว่า "ค่าเบี้ยเลี้ยง" หรือ "ค่าล่วงเวลา" ก็คือ "ค่าตอบแทน" การทำงานล่วงเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 ที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายค่าล่วงเวลา (ค่าตอบแทน) เหมาจ่ายให้โจทก์ทั้งสามสิบหกในอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานของโจทก์ทั้งสามสิบหกและจ่ายให้แม้วันที่โจทก์ทั้งสามสิบหกไม่ได้ทำงานล่วงเวลาก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามสิบหกตามสัญญาเอกสารหมาย ล.2 ไม่ทำให้เงินดังกล่าวกลายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงที่บริษัทนำเที่ยวจ่ายตอบแทนที่โจทก์ทั้งสามสิบหกออกไปทำงานนอกสำนักงานของจำเลยเมื่อโจทก์ทั้งสามสิบหกได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาครบถ้วนแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์ทั้งสามสิบหก อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน