การค้ำประกันการทำงานของลูกจ้าง
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ฉบับแก้ไข พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๐ กำหนดว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี”
งานทั่ว ๆ ไปนายจ้างจะเรียกรับเงินประกันการทำงานจากลูกจ้างไม่ได้ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างทำนั้น ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง
ประเภทงานที่อาจเรียกเงินประกันการทำงาน หรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ได้แก่
(๑) งานสมุห์บัญชี
(๒) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
(๓) งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่าคือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก
(๔) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
(๕) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
(๖) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
(๗) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น
หลักประกันการทำงาน
หลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานมีสามประเภท ได้แก่
(๑) เงินสด
ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเป็นเงินสด จำนวนเงินที่เรียกหรือรับต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
ในกรณีที่เงินประกันซึ่งนายจ้างเรียกหรือรับไว้ลดลง เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันเพิ่มได้เท่าจำนวนเงินที่ลดลงดังกล่าว
ให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกันค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้นายจ้างเป็นผู้ออก
(๒) ทรัพย์สิน
ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันเป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่เรียกหรือรับเป็นหลักประกันได้ ได้แก่ทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
(๑) สมุดเงินฝากประจำธนาคาร
(๒) หนังสือค้ำประกันของธนาคาร
ทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นต้องมีมูลค่าไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยให้นายจ้างเป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้
ห้ามมิให้นายจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ลูกจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตาม (๑) เป็นของนายจ้าง หรือของบุคคลอื่น
(๓) การค้ำประกันด้วยบุคคล
ค้ำประกันด้วยบุคคล ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน โดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
ให้นายจ้างจัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกันสามฉบับ โดยให้นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับ
ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันหลายประเภทรวมกันเมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
ระยะเวลาและความรับผิด
กฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลาในการค้ำประกันไว้ ดังนั้นหากผู้ค้ำประกันไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการค้ำประกันการทำงานไว้ ให้ถือว่าตกลงค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้าง หากกำหนดระยะเวลาไว้มีผลบังคับใช้ได้ ระยะเวลาค้ำประกันจึงถือตามระยะเวลาที่ตกลงไว้
จำนวนเงินความเสียหายหรือวงเงินค้ำประกัน ตามประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ฯ ฉบับใหม่ ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ทั้ง ๓ ประเภท คือ เงินสด บุคคล และทรัพย์สิน ต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
ในกรณีที่เงินประกันซึ่งนายจ้างเรียกหรือรับไว้ลดลง เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันเพิ่มได้เท่าจำนวนเงินที่ลดลงดังกล่าว