ลาเพื่อรับราชการทหาร
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 35 บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างลาเพื่อรับราชการโดยบัญญัติว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร”
ตามมาตรานี้ หลายท่านคงเข้าใจว่าเป็นการลาเพื่อเข้ารับราชการทหาร เนื่องจากการเกณฑ์ทหาร ถือเป็นการเข้าใจที่ผิด
เนื่องจากการลาประเภทนี้ กฎหมายกำหนดให้สิทธิลูกจ้างลาเพียงเพื่อเป็นการระดมพล หรือเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อฝึกวิชาทหารหรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมเท่านั้น ไม่ใช่กรณีให้สิทธิ์ลาเพื่อเข้ารับราชการเนื่องจากการเกณฑ์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ทหารแต่อย่างใด
ในกรณีลูกจ้างถูกเกณฑ์เป็นทหารเกณฑ์ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ กรณีจึงขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง ว่าจะกำหนดให้สิทธิ์ลูกจ้างลาเพื่อเข้ารับราชการเนื่องจากถูกเกณฑ์ทหารหรือไม่อย่างไร
นายจ้างบางรายอาจจะใช้วิธีเลี่ยงหรือตัดปัญหานี้ โดยการกำหนดคุณสมบัติการรับสมัครงานไว้ คือพนักงานชายต้องผ่านการเกณฑ์ทหารหรือผ่านการฝึกอบรมวิชาทหารมาแล้วไม่น้อยกว่าลำดับชั้นปีที่ ๓ เป็นต้น และอาจกำหนดให้ลูกจ้างที่ถูกเกณฑ์ทหารลาออกจากการเป็นลูกจ้างเสียก่อน
กรณีหากเป็นการลาเพื่อเป็นการระดมพล หรือเพื่อตรวจสอบ หรือเพื่อฝึกวิชาทหารหรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม ตามมาตรานี้ ในระหว่างลูกจ้างใช้สิทธิลาตามมาตรานี้ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลาตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งไม่เกิน 60 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 58 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารตามมาตรา 35 เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 60 วัน” เช่น ลูกจ้างใช้สิทธิลาเนื่องจากทางราชการเรียกระดมเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมเป็นเวลา 120 วัน ในระหว่างลาลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งจะได้เพียงไม่เกิน 60 วัน
ลาฝึกอบรม
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 36 บัญญัติให้สิทธิลูกจ้างลาเพื่อฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถของตนได้ โดยบัญญัติว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับสิทธิลาเพื่อการฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถของลูกจ้าง ไว้ได้ดังนี้
วัตถุประสงค์ของการลา
ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึงการฝึกอบรมหรือพัฒนา เกี่ยวกับทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยต้องมีโครงการ หลักสูตร และกำหนดวันเวลาที่แน่นอนชัดเจน
การสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น เช่น การศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกโรงงาน หรือเรียนตามมหาวิทยาลัยเปิดต่าง ๆ เมื่อทางสถาบันการศึกษาดังกล่าวจัดสอบ ลูกจ้างมีสิทธิลาไปสอบได้
ที่สำคัญ กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างลาไปเพื่อการทดสอบหรือวัดผลทางการศึกษาเท่านั้น ลูกจ้างจะใช้สิทธิลาเพื่อไปเรียนตามมาตรานี้ไม่ได้ แต่หากนายจ้างจะส่งเสริมหรือให้การสนับสนุนก็สามารถทำได้
วิธีการลา
การลาดังกล่าว ลูกจ้างจะต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยระบุถึงเหตุที่ลา
โดยชัดแจ้ง รวมทั้งนำเสนอหลักฐานเกี่ยวกับการขอลา ถ้ามี
ไม่ว่ากรณีใด ๆ นายจ้างอาจไม่อนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ ถ้า
- ลูกจ้างได้รับอนุญาตให้ลาเพื่อฝึกอบรมฯ มาแล้วในปีนั้น ๆ รวม 30 วัน หรือลามาแล้ว 3 ครั้ง
- หากการลานั้นอาจเกิดความเสียหายแก่การประกอบธุรกิจของนายจ้าง
หากนายจ้างพิสูจน์ได้ว่าการใช้สิทธิลาของลูกจ้าง จะก่อให้เกิดความเสีย
หายแก่การประกอบธุรกิจของนายจ้าง กฎหมายให้สิทธินายจ้างปฏิเสธไม่ให้
ลูกจ้างลาเพื่ออบรมได้ เช่น ทำงานตำแหน่งสำคัญ หากหยุดไปงานสะดุด
หรือเสียหาย หรือ งานเร่งด่วนขาดคนไม่ได้ต้องทำงานต่อเนื่อง เป็นต้น