ลาคลอด
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 41 แก้ไข ฉบับที่ 7 ปี 2562 บัญญัติว่า
“ ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบแปดวัน
วันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรานี้ให้หมายความรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย"
สิทธิการลาคลอดของลูกจ้าง กฎหมายกำหนดว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์” นั่นหมายความว่า ลูกจ้างทุกประเภทที่เป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้ โดยไม่จำกัดว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างทดลองงาน ฯลฯ
กฎหมายถือว่าลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาได้ทันทีที่มีสถานะเป็นลูกจ้าง โดยไม่คำนึงว่าเป็นลูกจ้างประเภทใด หรือต้องผ่านทดลองงานหรือไม่แต่อย่างใด ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเมื่อเข้าทำงานแล้ว แม้เพียงวันเดียวก็มีสิทธิลาคลอดได้ทันที
สภาพของการลาคลอดเป็นอย่างไร
กฎหมายไม่ได้กำหนดหรือให้คำจำกัดความของคำว่า “ลาคลอด” เอาไว้ แต่หากพิจารณา
สภาพของการคลอดแล้ว มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
- ลูกจ้างต้องมีสภาพพร้อมคลอด หมายถึงต้องตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หากตั้งครรภ์เพียง
ไม่กี่เดือนเดือน ย่อมไม่มีความพร้อมลาคลอดได้
- ต้องเจตนาลาไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการคลอดบุตร คือเอาทารกออกจากครรภ์ คลอดแล้วอยู่
รอดเป็นทารก หากลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ตามนัด หรือ การลาเพื่อทำแท้ง ไม่ถือเป็นการลาคลอด
- ตามพรบ.คุ้มครองแรงาน ฯ แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2562 ให้ถือว่า การลาเพื่อไปฝากครรภ์ และลาเพื่อไปพบแพทย์ตามนัด ที่หมอนัดไปตรวจครรภ์ในแต่ละเดือน ถือเป็นเป็นการลาคลอดด้วย
การนับจำนวนวันในการลาคลอด
ลาเพื่อการคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน ทั้งนี้การลาเพื่อฝากครรภ์หรือไม่พบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจครรภ์ ถือเป็นการลาคลอดด้วย
ดังนั้นในการนับวันลาคลอด 98 วัน จึงต้องนับวันที่ลาเพื่อไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจครรภ์ด้วย โดยหักตามจำนวนวันที่ใช้สิทธิ์ออกไปตามจำนวนวันที่ลา จริง เว้นแต่พนักงานไม่ใช้สิทธิ์ลาคลอด แต่ใช้สิทธิลาประเภทอื่น หรือไปในวันหยุด หรือหลังเลิกงาน สิทธิการลาคลอดเมื่อถึงวันคลอดจริง ๆ พนักงานจึงยังคงมีสิทธิลาคลอดได้ 98 วัน
การลาคลอด กฎหมายให้นับวันหยุดที่มีในระหว่างลาด้วย ดังนั้นการนับจำนวนวัน จึงให้นับต่อเนื่องรวมกันต่อเนื่องไปทั้งหมดตั้งแต่วันที่ลาจนถึงกลับมาทำงาน ทั้งวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณีที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น
กฎหมายไม่ได้กำหนดให้นับวันลา จากวันก่อนวันคลอดหรือหลังจากวันคลอด
ดังนั้น ลูกจ้างหญิงมีครรภ์จึงมีสิทธิลาคลอดได้ ทั้งก่อนและหลังคลอด เช่นอาจมีการลาก่อนวัน
กำหนดคลอด 1 สัปดาห์เพื่อเตรียมตัวคลอด จึงถือว่าวันที่ลา ๑ สัปดาห์ดังกล่าว เป็นวันลาคอลดด้วย แต่
เมื่อนับรวมกันแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน และการนับวันลาคลอดให้นับวันหยุดในระหว่างที่ลาด้วย
เช่น ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ใกล้กำหนดที่หมอนัดคลอดแล้ว และมีอาการพร้อมคลอดจึงขอลาคลอด ลูกจ้าง
ย่อมมีสิทธิลาก่อนการคลอดได้ แต่รวมแล้วไม่เกิน 98 วัน
การจ่ายค่าจ้างในระหว่างลาคลอด
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 59 กำหนดไว้ว่า
“ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน”
ดังนั้น การลาคลอดแต่ละครั้ง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง จำนวน 45 วัน กฎหมายกำหนด ให้คำนวณค่าจ้างในวันทำงาน ตลอดระยะเวลาที่ลา
ส่วนวันลาที่เหลือหากลูกจ้างต้องหยุดงานต่อไป ลูกจ้างมีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วันได้
ปัญหา
นายจ้างเลิกจ้างระหว่างการตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ?
เลิกจ้างได้ หากเลิกจ้างด้วยเหตุที่ลูกจ้างกระทำความผิด และไม่ใช่กรณีเลิกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างตั้งครรภ์ เพราะกฎหมายกำหนดห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์เท่านั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา 43 แต่มิได้ห้ามเลิกจ้างหากมีเหตุผลอื่นในการเลิกจ้าง
พบกันในหัวข้อต่อไปนะครับ
ไสว ปาระมี