วันลา
หมายถึง วันที่ลูกจ้างใช้สิทธิหยุดงานอันเนื่องจากเหตุจำเป็นต่าง ๆ โดยได้รับอนุญาตจากนายจ้าง เช่น ลาป่วย ลากิจ ลาฝึกอบรม เป็นต้น
ลาป่วย
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๓๒ กำหนดไว้ว่า "ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงการลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบ รับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ
ในกรณีที่นายจ้างจัดแพทย์ไว้ให้แพทย์นั้นเป็นผู้ออกใบรับรองเว้นแต่ลูกจ้างไม่สามารถให้แพทย์นั้นตรวจได้
วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานและวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา๔๑ มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตามมาตรานี้ "
ตามกฎหมายดังกล่าว สามารถสรุปหลักเกณฑ์โดยย่อได้ คือ
๑. ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง
๒. ลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้แสดงใบรับรองแพทย์ได้
๓. หากนายจ้างจัดแพทย์ไว้แล้วในสถานประกอบการ ให้แพทย์นั้นเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์
๔. กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงาน หรือวันลาเพื่อคลอดบุตร ไม่ถือว่าเป็นการลาป่วย
เกี่ยวกับกรณีการลาป่วย ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ง่าย ๆ สำหรับ HR หลายคน แต่คงเป็นปัญหาหรือยาขมสำหรับ HR อีกหลายคนเช่นกัน ปัญหาหนึ่งที่ HR พบเป็นประจำคือ ลาป่วยไม่ถึงสามวัน จะให้แสดงใบรับรองแพทย์ด้วยได้หรือไม่ หรือลาป่วยสามวันทำงาน ไม่มีใบรับรองแพทย์ ไม่อนุมติได้หรือไม่ หรือปัญหาลูกจ้างชอบอ้างป่วย ประเภทสามวันดี สี่วันไข้ จะจัดการอย่างไรเป็นต้น
ปัญหาการลาป่วย คงต้องพิจารณาและดูเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยให้เราจำหลักการง่าย ที่กฎหมายกำหนด คือ
ป่วยจริง และหากลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงาน นายจ้างกำหนดให้มีใบรับรองแพทย์ได้
ลาป่วยไม่ถึงสามวันนายจ้างกำหนดให้แสดงใบรับรองแพทย์ได้หรือไม่
กรณีนี้พิจารณาได้ ตามข้อกฎหมาย คือ กฎหมายกำหนดไว้ว่า ลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้แสดงใบรับรองแพทย์ ฯ
ดูดี ๆ ว่า ถึงขนาดป่วยสามวันทำงาน กฎหมายยังใช้คำว่า "อาจ" นั่นหมายความว่า จะกำหนดให้แสดงหรือไม่แสดงใบรับรองแพทย์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนายจ้าง ซึ่งกรณีนี้ ส่วนใหญ่หรืออาจจะทั้งหมด นายจ้างจะกำหนดไว้ชัดเจนในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ว่า "ลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไปต้องแสดงใบรับรองแพทย์" นั่นเป็นการเขียนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมาย
เจตนารมย์ของกฎหมาย กำหนดไว้เฉพาะกรณีลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นั่นแสดงว่า ลาป่วยไม่ถึงสามวัน หากป่วยจริง จึงไม่จำต้องแสดงใบรับรองแพทย์ก็ได้
ลาป่วยสามวันทำงานขึ้นไป ไม่แสดงใบรับรองแพทย์ได้หรือไม่
กรณีนี้ ต้องแยกพิจารณาสองประเด็นคือ ป่วยจริงหรือไม่จริง กับการแสดงใบรับรองแพทย์หรือไม่แสดง ความผิดและบทลงโทษ มีความแตกต่างกันไป กล่าวคือ
ลาป่วยสามวันทำงานขึ้นไป ไม่แสดงใบรับรองแพทย์ แต่ลูกจ้างสามารถพิสูจน์หรืออธิบายได้ว่า เจ็บป่วยจริง แต่ไม่ได้ขอใบรับรองแพทย์ กรณีถือว่า ป่วยจริงมีสิทธิลาป่วยได้ แต่ผิดระเบียบการลา คือไม่แสดงใบรับรองแพทย์ นั่นหมายความว่า ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ เพราะป่วยจริง ตามมาตรา ๓๒ และมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งไม่เกินสามสิบวัน ตามมาตรา ๕๗ แต่กรณีที่ไม่แสดงใบรับรองแพทย์ตามระเบียบ ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการลา นายจ้างจึงมีสิทธิลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามระเบียบการลาได้ แต่ถือว่าเป็นความผิดกรณีขาดงานละทิ้งหน้าที่
หากกรณีพนักงานไม่ได้ป่วยจริง และนายจ้างพิสูจน์ได้ นายจ้างมีสิทธิไม่อนุมัติการลาป่วยดังกล่าวได้ ถือว่าขาดงานละทิ้งหน้าที่ ลาป่วยเท็จ และยังอาจเข้าข่ายเจตนาทุจริตต่อนายจ้างอีกกระทงด้วยครับ แล้วแต่กรณี
ทั้งสองกรณี จะเห็นว่า การกำหนดให้แสดงใบรับรองแพทย์ ไม่ได้มีผลต่อการพิจารณาความผิดว่า ป่วยจริงหรือไม่จริง เพราะการพิจารณาว่าป่วยจริงหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น เป็นดุลยพินิจของนายจ้างที่จะพิจารณาตามความเป็นจริง แต่การแสดงใบรับรองแพทย์นั้น ถือว่าเป็นเอกสารที่ลูกจ้างสามารถแสดงให้นายจ้างเชื่อถือได้มากที่สุดว่าป่วยจริง ดีกว่าการอธิบายหรือหาพยานบุคคลมายืนยัน
กรณีหากเจอพนักงานลาป่วยบ่อย นายจ้างคงต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ เช่น ในทางปฏิบัติอาจสั่งให้นำใบรับรองแพทย์มาแสดงทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณา (แต่อย่าลืมว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดให้แสดงนะครับ) แต่การสั่งให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น เนื่องจากพฤติกรรมลูกจ้างไม่น่าเชื่อถือ จึงต้องให้แสดงใบรับรองแพทย์ทุกครั้ง แต่หากลูกจ้างไม่แสดงแต่อธิบายหรือยืนยันได้ว่าป่วยจริง ก็เป็นสิทธิของลูกจ้าง เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ
หากเจอพนักงานลักษณะดังกล่าวแล้ว นอกจากจะให้แสดงใบรับรองแพทย์แล้ว ควรดูแลเป็นพิเศษ เช่น หากพบว่าลูกจ้างหยุดงานหรือหายไป อาจส่งเจ้าหน้าที่บุคคลหรือตัวแทนคณะกรรมการสวัสดิการไปเยี่ยมเยือนซักหน่อย เพื่อดูแลช่วยเหลือ โดยไม่ไห้รู้ตัว
สรุปว่า ลาป่วยหากป่วยจริงและอธิบายให้นายจ้างเข้าใจได้ มีสิทธิลาป่วยได้ แต่หากลาป่วยตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป ไม่แสดงใบรับรองแพทย์ อาจมีความผิดตามระเบียบการลา แต่ไม่ถือว่าขาดงานละทิ้งหน้าที่
ลาป่วยไม่ถึงสามวัน หากป่วยจริง ไม่จำต้องแสดงใบรับรองแพทย์ก็ได้
ลาป่วยบ่อย หากป่วยจริง ไม่ถือว่าผิดระเบียบ แต่แม้จะป่วยจริง หากในหนึ่งปีลาป่วยจำนวนมาก หรือเกินกว่า ๓๐ วัน และอาจส่งผลกระทบกับงาน อาจเข้าข่ายหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน หย่อยความสามารถ นายจ้างอาจพิจารณาเลิกจ้างได้ โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
ลาประเภทอื่น ๆ ไว้ต่อในครั้งต่อไปนะครับ
ไสว ปาระมี