คำพิพากษาฎีกาที่ 1353/2551
เรื่อง ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต้องวางเงินศาลตามคำสั่งก่อน จึงจะใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งได้
คดีนี้สืบเนื่องมาจากพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 193/2548 เรื่องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ระหว่างนางสุดาวรรณ เอกพิทักษ์ดำรง ผู้ยื่นคำร้อง กับบริษัทกรุงเทพฯ การทอ จำกัด ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 สั่งให้โจทก์ในฐานะนายจ้างจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า(ที่ถูกคือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า) เป็นเงิน 10,133.33 บาท ให้แก่นางสุดาวรรณ เอกพิทักษ์ดำรง ลูกจ้างผู้ร้อง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานฉบับดังกล่าวโดยไม่ได้วางเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อศาล ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินตามกฎหมายต่อศาลภายในสิบห้าวัน แล้วจึงจะพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ต่อไป ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2548 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางว่า การที่ศาลแรงงานกลางให้โจทก์วางเงินต่อศาลขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 27 และการกระทำของจำเลยขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2541 (ที่ถูก พ.ศ. 2540) มาตรา 233
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ศาลยังไม่ได้สั่งรับหรือไม่รับฟ้องของโจทก์จึงไม่คดีในศาลที่โจทก์จะอุทธรณ์ได้ โจทก์จะอุทธรณ์ได้ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์เพราะไม่วางเงินเสียก่อน จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2548 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป จึงไม่รับฟ้องของโจทก์ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และไม่รับฟ้องต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ก่อน โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้โจทก์วางเงินต่อศาลขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 27 ที่บัญญัติให้การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในศาลแรงงานให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยมาตรา 125 วรรคสาม กำหนดให้นายจ้างที่นำคดีไปสู่ศาลต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ เงินดังกล่าวเป็นเงินที่นายจ้างต้องวางต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 27 ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 193/2548 อันเป็นคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งตามมาตรา 124 แล้วเป็นฝ่ายนำคดีมาฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โจทก์จักต้องนำเงินที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของจำเลยมาวางศาลจึงจะฟ้องคดีได้ เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลภายในสิบห้าวัน โจทก์ไม่ปฏิบัติตามแล้วอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันแล้วศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดจึงไม่รับฟ้องของโจทก์แล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้โจทก์วางเงินต่อศาลและเมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลจึงสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าพนักงานตรวจแรงงานไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าการสั่งดังกล่าวล่วงอำนาจศาลจึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ในเนื้อหาของคดีซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาจากศาลแรงงานกลางเสียก่อนจึงจะอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องของโจทก์แล้วจึงไม่มีคดีโจทก์ในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานกลางที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2548 ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลแรงงานกลางภายในกำหนดศาลแรงงานกลางจึงไม่รับฟ้องของโจทก์โดยชอบด้วยวินิจฉัยข้างต้นแล้ว เช่นนี้อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย