คำพิพากษาฎีกาที่ 7698/2551
เรื่อง ค่าคอมมิชชั่น
จำเลยมีข้อตกลง กำหนดว่า จะจัดระบบคอมมิชชั่นให้โจทก์ใหม่ ในสายงานการขาย ไม่ถือว่าเป็นการตกลงจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า วันที่ 24 เมษายน 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และตั้งบริษัทดีลอยท์ทู้ชโธมัทสุแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า “บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจอาร์เธอร์แอนเดอร์เซ่น จำกัด” เป็นผู้บริหารแผน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ (สายงานการขาย) ได้รับค่าจ้างเดือนละ 60,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์อ้างว่าผลการทำงานของโจทก์ไม่มีประสิทธิภาพ โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มากว่า 12 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 600,000 บาท นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้โจทก์ดูแลรับผิดชอบงานในสายงานการขายต่างประเทศ จำเลยที่ 2 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์เพราะพนักงานขายในสายงานการขายภายในประเทศนอกจากจะได้รับการปรับค่าจ้างแล้วยังได้รับค่าคอมมิชชั่นด้วยส่วนโจทก์ซึ่งอยู่ในสายงานการขายต่างประเทศไม่ได้รับการปรับค่าจ้างและไม่ได้รับค่าคอมมิชชั่น จำเลยที่ 2 ยืนยันกับโจทก์ว่าจะจัดให้มีระบบคอมมิชชั่นเพื่อใช้ในปี 2545 โจทก์เสนอขายสินค้าของจำเลยที่ 1 ให้แก่ลูกค้าแล้ว โจทก์จะได้รับค่าคอมมิชชั่นอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดขายสินค้าที่โจทก์ขายได้ ตั้งแต่ปี 2545 ถึงเดือนเมษายน 2546 โจทก์เสนอขายสินค้าได้เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,199,679,446 บาท จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นค่าจ้างจำนวน 5,998,397.23 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 600,000 บาท และค่าจ้างจำนวน 5,998,397.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกัน โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่สุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายอำนวยการขายต่างประเทศ 1 และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 60,000 บาท โจทก์มีหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการสนับสนุนการขาย เช่น งานโต้ตอบหนังสือกับลูกค้า ประสานงานการจัดส่งสินค้าและงานเอกสารอื่นๆ ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการขาย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยกับเงินอื่นๆ ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้บริหารแผนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ประสบปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ต้องหยุดการผลิตและจำหน่ายสินค้าตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ทั้งโจทก์ก็ไม่ใช่พนักงานขาย ไม่มีหน้าที่ในการขายสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีระเบียบข้อบังคับ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับโจทก์เกี่ยวกับค่าคอมมิชชั่นตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริงขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์รับไปแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.3 และแถลงสละประเด็นข้อพิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นตามฟ้องจากจำเลยทั้งสองหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้มีข้อตกลงกันเกี่ยวกับการจ่ายค่าคอมมิชชั่น การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ส่วนเอกสารหมาย จ.2 นั้น มีข้อความเป็นเพียงคำปรารภที่จะจัดระบบคอมมิชชั่นใหม่ในสายงานการขายของบริษัทเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้โจทก์ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้แสดงเจตนาให้สัญญาต่อโจทก์ตามคำเสนอที่ได้แจ้งมายังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 แล้ว โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะให้โจทก์ได้รับผลตอบแทนจากการขายและโจทก์ได้รับคำเสนอจากจำเลยที่ 1แล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยฟังข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและพยานเอกสารประกอบกัน อุทธรณ์ของโจทก์หยิบยกเฉพาะเอกสารหมาย จ.2 เพียงอย่างเดียวเพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยที่ 1 และโจทก์มีข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าคอมมิชชั่นโจทก์มีสิทธิได้รับค่าคอมมิชชั่น จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในข้อเท็จจริงต้องห้ามให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจังตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แม้ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์ของโจทก์มา ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้