สวัสดีครับวันนี้มาเพิ่มเติมกฎหมายกันต่อนะครับ
เราเรียนรู้เรื่องค่าจ้างไปแล้ว ก็ควรจะรู้ต่อไปอีกสักหน่อย เรื่องค่าจ้างสำหรับการทำงานในวันหยุด “ค่าทำงานในวันหยุด “ ค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลา “ค่าล่วงเวลา” และค่าจ้างสำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด “ค่าล่วงเวลาในวันหยุด”
ก่อนอื่นเรามาเรียนรู้ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนะครับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และฉบับแก้ไขปี ๒๕๕๑ กำหนดไว้ดังนี้
มาตรา ๕
"วันทำงาน" หมายความว่าวันที่กำหนดให้ลูกจ้างทำงานตามปกติ
"วันหยุด"หมายความว่าวันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์หยุดตามประเพณีหรือหยุดพักผ่อนประจำปี
"ค่าจ้างในวันทำงาน" หมายความว่าค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ
"การทำงานล่วงเวลา" หมายความว่าการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา๒๓ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี
"ค่าล่วงเวลา" หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
"ค่าทำงานในวันหยุด"หมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด
"ค่าล่วงเวลาในวันหยุด" หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
มาตรา๒๔ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป
ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น
มาตรา๒๕ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น
นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้สำหรับกิจการโรงแรมสถานมหรสพงานขนส่งร้านขายอาหารร้านขายเครื่องดื่มสโมสรสมาคมสถานพยาบาลหรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เพื่อประโยชน์แก่การผลิตการจำหน่าย และการบริการนายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานนอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองในวันหยุดเท่าที่จำเป็นโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆไป
มาตรา๖๑ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา๖๒ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา๒๘มาตรา๒๙หรือมาตรา๓๐ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราดังต่อไปนี้
(๑) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(๒) สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา๖๓ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
มาตรา๖๔ในกรณีที่นายจ้างมิได้จัดให้ลูกจ้างหยุดงานหรือจัดให้ลูกจ้างหยุดงานน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา๒๘มาตรา๒๙และมาตรา๓๐ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา๖๒และมาตรา๖๓เสมือนว่านายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด
การทำงานล่วงเวลา ตามกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ว่า คือ
๑) เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติหรือ
๒) เป็นการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ หรือ
๓) เป็นการทำงานเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา๒๓ในวันทำงาน หรือวันหยุดแล้วแต่กรณี
ตามมาตรา ๒๓ กำหนดให้นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติเวลาเริ่มงานและเวลาเลิกงานในแต่ละวันไว้ ตามเวลาทำงานของงานแต่ละประเภท แต่วันหนึ่งไม่เกิน ๘ ชั่วโมงสำหรับงานทั่วไป ฯ เช่น เข้างาน ๐๘.๐๐ เลิกงาน ๑๗.๐๐ น. เป็นต้น
ดังนั้น การทำงานที่เกินเวลาทำงานปกติ หรือทำงานนอกเวลาทำงานปกติ จึงถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา
ในบางกรณีพนักงานมาทำงานในเวลาทำงานปกติไม่ครบ ๘ ชั่วโมง แล้วทำงานล่วงเวลาต่อ เช่น เข้างาน ๑๓.๐๐ น. เลิกงานเวลา ๑๗.๐๐น. และทำงานต่อถึง ๒๐.๐๐ น. ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ทำได้หรือไม่ คำตอบคือ ช่วงเวลาตั้งแต่ ๑๗.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐น. ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา เพราะถือว่าเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกตินั่นเอง สามารถทำได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ มาตรา ๒๔
ข้อสำคัญของการทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลา การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด คือกฎหมายห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นครั้งคราวไป ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา ๒๔ และห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดเว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกัน หากหยุดจะเสียหายแก่งาน ตามมาตรา ๒๕
ในทางตรงกันข้าม ลูกจ้างจะทำงานล่วงเวลาหรือมาทำงานในวันหยุดเอง โดยไม่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้างานผู้มีอำนาจหรือนายจ้างได้หรือไม่ คำตอบคือ ทำได้แต่ไม่ได้ค่าจ้าง เนื่องจากเป็นการมาทำงานเองโดยที่นายจ้างไม่ได้สั่ง หรือไม่ได้ตกลงให้มาทำงาน นายจ้างจึงสามารถปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างกรณีดังกล่าวได้
แต่ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องอาจไม่เหมือนกันตลอดไป ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น ประเพณีปฏิบัติอาจมีการลงชื่อทำงานไว้ล่วงหน้าทุกครั้ง โดยการวางแผนการทำงานของหัวหน้างาน ตามแผนการทำงาน และทำงานตามแผนงานที่วางไว้ โดยไม่ต้องรอผลการอนุมัติให้ทำงานล่วงเวลา เป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป ย่อมแสดงให้เห็นว่านายจ้างได้ตกลงให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ตามแผนการทำงานที่หน้างานวางแผนไว้แล้ว ดังนี้ถือว่ามีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด
ดังนั้นการทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลา จึงต้องมีการตกลงกันทุกครั้งไป ลักษณะของการตกลงกันที่ปฏิบัติกันทั่วไปคือ การลงชื่อทำงานล่วงเวลา ลงชื่อทำงานในวันหยุด และหัวหน้างานผู้มีอำนาจ อนุมัติ จึงถือว่ามีการตกลงกันทำงานล่วงเวลา
ข้อยกเว้นที่นายจ้างสามารถสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม คือ ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉินหรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น งานขนย้ายสินค้าลงเรือ ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนเรือออกตามเวลา งานควบคุมดูแลเครื่องจักรที่ต้องเดินเครื่องตลอดเวลา หรือสายงานการผลิตที่ต้องทำต่อเนื่อง หากหยุดผลิตภัณฑ์อาจได้รับความเสียหาย เป็นต้น
การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด มีวิธีการคำนวณคือ
ค่าทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ทั้งลูกจ้างรายวันและลูกจ้างรายเดือน มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า ๑.๕ เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ ตามมาตรา ๖๑ เช่น
ค่าจ้างต่อวัน วันละ ๓๐๐ บาท ทำงานล่วงเวลา ๓ ชั่วโมง จะได้รับค่าทำงานล่วงเวลา คือ ๓๐๐ หาร ๘ = ๓๗.๕ x ๑.๕ x ๓ ช.ม. = ๑๖๘.๗๕ บาท พนักงานจะได้รับค่าทำงานล่วงเวลา จำนวน ๑๖๘.๗๕ บาท
การทำงานในวันหยุด หากเป็นพนักงานรายวัน พนักงานจะได้รับค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
หากเป็นพนักงานรายเดือน พนักงานจะได้รับค่าจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตัวอย่างเช่น
พนักงานรายเดือน เดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท ทำงานในวันหยุด จะได้รับค่าจ้าง คือ ๑๐,๐๐๐ หาร ๓๐
เท่ากับ ๓๓๓.๓๓ บาท (ทำงานทั้งวัน) หากทำงานไม่ครบ ทำเพียง ๔ ชั่วโมง ให้เอาจำนวนชั่วโมงทำงานปกติหารค่าจ้างต่อวัน จะได้อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง x จำนวนชั่วโมงที่ทำ จะเป็นค่าจ้างที่ได้รับ ตามตัวอย่างคือ ๓๓๓.๓๓ หาร ๘ x ๔ = ๑๖๖.๖๖ บาท
พนักงานรายวัน วันละ ๓๐๐ บาท จะได้รับค่าทำงานในวันหยุด คือ ๓๐๐ x ๒ = ๖๐๐ บาท (ทำงานทั้งวัน) หากทำงานไม่ครบ ทำเพียง ๔ ชั่วโมง ให้เอาชั่วโมงทำงานปกติหารค่าจ้างต่อวัน จะได้อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง x จำนวนชั่วโมงที่ทำ x ๒ เท่า จะเป็นค่าจ้างที่ได้รับ ตามตัวอย่างคือ ๓๐๐ หาร ๘ x ๒ x ๔ = ๓๐๐ บาท
หากสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ ในกระทู้ หรือ E-mail หรือโทรศัพท์โดยตรงได้ครับ
พบกันในโอกาสต่อไปครับ
ไสว ปาระมี