การชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
มาตรา ๖๔ กำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”
การชุมนุมตามกฎหมายแรงงานหรือที่เรียกกันคือ “การนัดหยุดงาน”
พนักงานนัดหยุดงาน หรือพนักงานชุมนุมประท้วง หรือผละงาน หรือก่อม็อบ ไม่ว่าจะเรียกหรือเขียนอย่างไรก็ตาม แต่การหยุดงานอันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานที่ชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ เท่านั้นที่ให้การรองรับและกำหนดขั้นตอนและวิธีการไว้ ตามคำจำกัดความในมาตรา ๕ “การนัดหยุดงาน” หมายความว่า “การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราว เนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน”
การหยุดงานอย่างไรชอบ อย่างไรไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘
เมื่อเกิดเหตุพนักงานนัดหยุดงาน พนักงานนัดชุมนุมประท้วง นายจ้างหรือตัวแทนนายจ้าง หรือ HR อย่างเรา ๆ จะทำอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร จะมีวิธีการป้องกันอย่างไร จะเริ่มต้นอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายให้นายจ้างได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
เมื่อเกิดเหตุชุมนุมหรือพนักงานใช้สิทธิหยุดงาน มาตรการต่อไปนี้ เป็นมาตรการเพื่อดำเนินการ ซึ่งใช้ดำเนินการในการปฏิบัติงานจริง รวบรวมจากประสบการณ์การทำงานจริง สามารถนำไปปรับใช้งานได้ตามความเป็นจริงของแต่ละบริษัท ซึ่งแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการปฏิบัติงานจริง โดยต้องพิจารณาไปตามสถานการณ์ ลักษณะธุรกิจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละบริษัท หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ
การประชุมวางแผน
- ประชุมผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยคัดเลือกคักกรองบุคคลเข้าร่วมประชุม
- หาสาเหตุที่มาของการชุมนุม เพื่อหาแนวทางแก้ไขและยุติข้อพิพาท
- ตรวจสอบแหล่งข่าว
- ตรวจสอบสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย
- ตรวจสอบขั้นตอนและวิธีการยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมาย
- ตรวจสอบบุคคลและพฤติกรรมการชุมนุมของแต่ละคน
- การออกหนังสือคัดค้านและขอตรวจสอบ
- พิจารณาข้อเรียกร้องเพื่อเจรจา และพิจารณาสวัสดิการเพื่อร้องสวน
ประเมินสถานการณ์
- จำนวนคนที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมชุมนุม อัตรากำลังคนสำหรับการผลิต ประเมินอำนาจในการเจรจาต่อรอง
- ระยะเวลาในการชุมนุม
- ผลกระทบต่อระบบธุรกิจของบริษัท
- ผลกระทบต่อวัตถุดิบ สินค้า และลูกค้า
- ตรวจสอบคำสั่งซื้อ แผนการผลิต สต๊อกสินค้าและการขนส่ง
- ตรวจสอบรายได้ เงินทุนสำรอง
- ออกหนังสือแจ้ง และชี้แจงลูกค้า ถึงสถานะการณ์ สร้างความเชื่อมั่น
- สรุปแผนดำเนินการและมอบหมายงาน
จัดทีมงาน แบ่งหน้าที่
- ผู้รับมอบอำนาจและแต่งตั้งตัวแทนบริษัทในการเจรจาและการดำเนินคดี
- ตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการ และผู้มีอำนาจสั่งการ
- หน่วยรักษาความปลอดภัย ผู้ประสานงานตำรวจ, บริษัท รปภ.
- ผู้ประสานงานหน่วยงานราชการ แรงงานพื้นที่เขต พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี
- ผู้ให้ข่าว ทั้งสื่อมวลชน ลูกค้า และบุคคลภายนอก
- งานธุรการ การเตรียมเอกสาร ออกประกาศต่าง ๆ และการแจกจ่ายเอกสาร
- ภาพถ่าย วีดีโอ บันทึกเสียง กล้องวงจรปิด
- จัดงบประมาณค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน
มาตรการป้องกันระหว่างการชุมนุม
- ตรวจสอบแหล่งข่าว
- จัดทีมงานฝ่ายรักษาความปลอดภัย เพื่อดูแลทั้งบุคคลและทรัพย์สิน
- ตรวจสอบวัตถุดิบ เครื่องจักร ทรัพย์สิน และเอกสารสำคัญ
- ดูแลความปลอดภัยพนักงานและบุคลากร
- ออกประกาศต่าง ๆ เพื่อรักษาสิทธิ อาทิ เช่น
- ห้ามชุมนุมภายในบริษัท
- ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง
- ห้ามแจกจ่ายเอกสารใบปลิว
- ห้ามดื่มและนำสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามาภายในบริษัท ฯ
- ประกาศให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกลับเข้าทำงานตามปกติ
- ประกาศให้หยุดงานชั่วคราวหากเกิดกรณีจำเป็น
- ป้องกันจุดเสี่ยง จุดอันตราย
- บันทึกภาพและเสียงให้มากที่สุด
- ประชุมหารือและแก้ไขปัญหาเป็นระยะทุกชั่วโมง ทุกวัน หรือแล้วแต่เหตุการณ์
ติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลความเรียบร้อย
- สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
- ตำรวจดับเพลิง (กรณีฉุกเฉิน)
- สำนักงานเขตหรืออำเภอที่รับผิดชอบ
- แรงงานพื้นที่เขต หรือแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี
- พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน สำนักงานประนอมข้อพิพาท ฯ กระทรวงแรงงาน
ตรวจสอบและแก้ไข สิ่งต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- สิ่งแวดล้อม
- แรงงานต่างด้าว
- มาตรฐานอุตสาหกรรม
- ระบบ ระเบียบหรืออุปกรณ์ความปลอดภัยทั้งหลาย
- เอกสารทางกฎหมาย เช่น เอกสารทางบัญชี ภาษีอากร เอกสารเกี่ยวกับศุลกากร เป็นต้น
มาตรการหลังการชุมนุม
- คัดกรองบุคลกลับเข้าทำงานตามปกติตามขั้นตอนวิธีการที่กำหนด
- ละลายพฤติกรรม จัดฝึกอบรม
- ปรับเปลี่ยนโยกย้ายตามความเหมาะสม
- สัมภาษณ์และสอบสวน
- วางมาตรการป้องกันเครื่องจักร
- ตรวจสอบดูแลสินค้า วัตถุดิบ ขั้นตอนกระบวนการผลิต
- คำสั่งให้หยุดงานโดยได้รับค่าจ้างตามปกติ ในบางคนบางกรณี หากมีเหตุอันจำเป็นและเหมาะสม
แนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาหลังเกิดเหตุ
- ชี้แจงเหตุและผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาเหตุในการออกคำสั่งต่าง ๆ ในแต่ละเรื่อง
- ชี้แจงและแจ้งแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้พนักงานทราบล่วงหน้า
- ประกาศหรือจัดสวัสดิการหรือให้รางวัลแก่พนักงานผู้ให้ความร่วมมือ เป็นตัวอย่าง
- จัดกิจกรรมแรงงานสัมพันธ์ เน้นการละลายพฤติกรรม สร้างความสามัคคี
- สร้างแรงจูงใจในการทำงาน กำหนดแผนพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม
โดยนายไสว ปาระมี
|