ปล่อยผีแรงงานเถื่อน หวั่นทะลักลอบเข้าประเทศ สุชาติให้ขึ้นทะเบียน 30 วัน
กระทรวงแรงงานปล่อยผีแรงงานเถื่อน เร่งจดทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายภายใน 30 วัน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน ก่อนนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู ระบุสถานประกอบการต้องการแรงงานราว 2 แสนคน ขณะที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุการเปิดจดทะเบียนเป็นแรงดึงดูดแรงงานเถื่อนทะลักเข้าประเทศ เป็นการฟอกแรงงานผิดกฎหมาย ด้านการสอบสวนเอาผิดขบวนการขนแรงงานเถื่อนซิ่งแหกโค้งทำให้แรงงานเมียนมาเสียชีวิต 3 ศพ เจ็บ 4 คน ตำรวจออกหมายจับคนขับรถแล้ว แต่ยังไม่ฟันธงเป็นขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่
จากคดีแก๊งขนแรงงานเถื่อน ขับรถกระบะอีซูซุดีแมคซ์สีขาว ทะเบียน บน 6487 ตาก ลักลอบขนแรงงานเมียนมา 23 คน ข้ามแดนรอยต่อ อ.พบพระ มายัง อ.วังเจ้า จ.ตาก ลัดเลาะตามไหล่เขาก่อนแหกโค้งพลิกคว่ำที่บ้านผาผึ้ง หมู่ 6 ต.เชียงทอง อ.สังเจ้า ทำให้แรงงานเมียนมาเสียชีวิต 3 ศพ บาดเจ็บ 4 คน หลังเกิดเหตุคนขับเรียกรถกระบะอีกคันขนย้ายแรงงานทั้งหมด รวมทั้งผู้เสียชีวิตและคนเจ็บไปทิ้งไว้ที่ป่ายางบ้านหนองนกกระทา หมู่ 12 ต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร กระทั่งชาวบ้านไปพบแจ้งตำรวจสอบสวน ก่อนตามยึดรถกระบะซึ่งบริษัทประกันส่งไปซ่อมที่ จ.พิษณุโลก ไว้เป็นของกลาง ตรวจสอบพบผู้ครอบครองชื่อ น.ส.วนิภา แซ่กือ บ้านอยู่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ส่วนคนขับชื่อนายอุทัย แซ่ม้า อายุ 27 ปี ตำรวจเตรียมออกหมายจับเพื่อขยายผลจับกุมผู้ร่วมขบวนการ
ขณะที่การสืบสวนจับกุมขบวนการขนแรงงานเถื่อนดำเนินไปต่อเนื่อง กระทรวงแรงงานกลับปล่อยผีแรงงานเถื่อน เร่งจดทะเบียนแรงงานผิดกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงหลังประชุมร่วมกับเอ็นจีโอ เครือข่ายแรงงาน และตัวแทนนายจ้าง ถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการทะลักของแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน โดยนายสุชาติ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องงดนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบเอ็มโอยู ตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 จนเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมติ ครม.วันที่ 28 ก.ย. ให้ขึ้นทะเบียนแรงงานผิดกฎหมายและกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. ทำให้แรงงานผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องภายใน 30 วัน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน
เมื่อถามว่าจะแก้ปัญหาการลักลอบข้ามชายแดนในช่วงนี้อย่างไร นายสุชาติตอบว่า ตามปกติถ้าไม่นำเข้าตามเอ็มโอยู จะมีลอบข้ามเข้ามาทุกวันอยู่แล้ว ได้กำชับให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มความเข้มงวดสกัดกั้นตามแนวชายแดน และให้ภาคแรงงานประสานไปยังต้นทางอย่าลอบเข้ามาช่วงนี้จะถูกจับและเสียเงินฟรี รอให้ผ่าน 30 วัน ขึ้นทะเบียนในประเทศให้จบ คาดว่าจะมีประมาณแสนคน เป็นกลุ่มที่ทำงานในสถานประกอบการอย่างไม่ถูกต้อง จากนั้นจะนำเข้าตามเอ็มโอยู สถานประกอบการมีความต้องการประมาณ 2 แสนคน วันที่ 11 พ.ย.จะประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางการนำเข้าก่อนจะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ และ ครม.ให้ความเห็นชอบ
ต่อมา รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โควิดทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มีงานไม่มีรายได้เดินทางกลับบ้านไป 3-4 แสนคน เมื่อธุรกิจเริ่มเปิดจึงเกิดความขาดแคลนแรงงาน เพราะไม่ใช่สถานการณ์ปกติ จึงเกิดการสมยอมนำเข้ามา คนที่เคยปล่อยออกไปก็ต้องดึงกลับ แต่ส่วนหนึ่งได้กระจายไปตามที่ต่างๆ หรือหลบอยู่กับนายจ้างไม่ถูกต้อง การเปิดจดทะเบียนทุกครั้งจะเป็นแรงดึงดูดเพราะช่วงนี้เจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดในการจับกุม บางคนหาช่องนำคนข้ามชายแดนเสียค่าใช้จ่าย 2 หมื่นบาทมีนายหน้าพามาส่งนายจ้าง เมื่อรัฐบาลเปิดจดทะเบียนก็เข้าไปฟอก แต่ก็เป็นการเอาคนที่อยู่ใต้ดินเข้าระบบด้วย ถือเป็นการกวาดบ้านทั้งคนเก่าที่ยังจดทะเบียนไม่จบหานายจ้างไม่ได้ ยังตกค้างอีกมาก แต่คนใหม่ที่เข้ามาถ้าปล่อยไว้ยอดใต้ดินจะใหญ่มากขึ้น จึงต้องทำให้ถูกต้อง แต่จะทำอย่างไรให้เข้าระบบใน 30 วัน และต้องมองถึงความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการค้ามนุษย์
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 พ.ย. ที่ สภ.พราน กระต่าย จ.กำแพงเพชร พ.ต.อ.วัชรเกียรติ ผกก.เมืองกำแพงเพชร พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน จ.กำแพงเพชร ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอพรานกระต่าย เข้าเก็บดีเอ็นเอและตรวจสัมภาระของแรงงานเมียนมาทั้ง 16 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 8 คน เคลื่อนย้ายมาจากวัดหนองนกกระทา ต.นาบ่อคำ อ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อนำไปเปรียบเทียบดีเอ็นเอที่เก็บได้บนรถกระบะที่ประสบอุบัติเหตุ โดยมีนาย pyae phyo aung เจ้าหน้าที่ทูตเมียนมามาสังเกตการณ์ รวมทั้งสอบถามความเป็นอยู่ของแรงงานเมียนมา และสอบถามรายละเอียดของทางคดีจาก พ.ต.อ.ภานุวัฒน์ ภูจอมเพชร ผกก.สภ.พรานกระต่าย
ตอนสายวันเดียวกันที่วัดคูยาง อ.เมืองกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่นำศพแรงงานเมียนมา 1 รายที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำพิธีฌาปนกิจ ส่วนศพแรงงานที่เสียชีวิตอีก 2 ศพ ยังเก็บอยู่ที่ รพ.กำแพงเพชร รอญาติติดต่อขอรับกลับไป ส่วนแรงงานเมียนมาที่ได้รับบาดเจ็บ 4 คน รวมทั้งแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 อีก 2 คน รักษาตัวอยู่ที่ รพ.กำแพงเพชร
ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่ บก.ภ.จ.กำแพงเพชร พล.ต.ท.ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุรเชษฐ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ต.ระวีพรรษ อมรมุนีพงศ์ รอง ผบช.ภ.6 พล.ต.ต.พิพัฒน์ ชุ่มมณีกูล ผบก.ภ.จ.กำแพงเพชร พล.ต.ต.ปกป้อง บดีพิทักษ์ ผบก.ภ.จ.ตาก พร้อมชุดสืบสวนคลี่คลายคดี ร่วมประชุมนานราว 2 ชั่วโมง ซึ่งที่ประชุมสรุปผลการสอบสวนแรงงานเมียนมา พบว่าทั้งหมดลักลอบเข้าประเทศไทย อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปทำงานใน จ.สมุทรสาคร มีชาวเมียนมาเป็นนายหน้านำพาเข้ามาในราชอาณาจักร ไทย แล้วพักอยู่ในป่าตามแนวชายแดน วันที่ 5 พ.ย.มีคนไทยนำรถกระบะไปรับบุคคลต่างด้าวทั้ง 23 คน เพื่อส่งไปปลายทางแต่เกิดอุบัติเหตุเสียก่อน
หลังการประชุม พล.ต.ท.สุรเชษฐ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ศาลออกหมายจับแล้ว 1 รายเป็นคนขับ คดีก็ก้าวหน้าไปมาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กำชับให้ขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริง เนื่องจากเหตุเกิดใน 2 พื้นที่ จึงเชิญ ผบก.ภ.จ.ตาก มาประชุมร่วมกับ ผบก.ภ.จ.กำแพงเพชร โดยให้ดูในรายละเอียดลึกลงรวมทั้งการไล่กล้องวงจรปิดสอบสวนขยายผลให้เร็วที่สุด ส่วนผู้บาดเจ็บทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูแลอย่างดีแล้ว ต้องขอเวลาอีกประมาณ 1 อาทิตย์จะคืบหน้ากว่านี้ ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่นั้น ต้องสอบสวนพร้อมกับประกันสังคมหาข้อสรุปก่อน เรื่องสำนวนในที่เกิดเหตุ จ.ตาก กับสำนวนที่เกิดเหตุในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ขณะนี้ยังไม่ได้นำมารวมกัน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องนำมารวมกันเพราะต่างกรรมต่างวาระ