คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๙๗๕/๕๘
ขึ้นทะเบียนรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเกิน ๓๐ วัน ยังมีสิทธิได้รับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ และเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบครบเงื่อนเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามกฎหมายแล้ว โจทก์ลาออกจากงานเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ และยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน แต่สำนักงานประกันสังคมมีคำสั่งไม่จ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานให้ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งแล้ว คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ ๒๑๕๒/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานรวม ๙๐ วัน ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ แต่โจทก์ไปขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักจัดหางานของรัฐเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ เกินระยะเวลาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานตามที่ขอ ให้ยกอุทธรณ์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว เพราะโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานปีละ ๙๐ วัน ในอัตราร้อยละ ๓๐ ของค่าจ้างในการลาออกเป็นเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๒๑๕๒/๒๕๕๐ ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากลาออกเป็นเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๒๑๕๒/๒๕๕๐ ชอบด้วยเหตุผลและข้อกฎหมายแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประโยชน์ทดแทนของสำนัก งานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๑ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ ๒๑๕๒/๒๕๕๐ ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากการลาออกแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘ มาตรา ๗๙ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ (๒)
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามพยานหลักฐานและคำรับของคู่ความว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนโดยเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ด้วยเหตุลาออก จึงไปขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ แล้ววินิจฉัยว่า ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไว้เพียง ๓ กรณี ตามข้อ ๓ (๑) ถึง (๓) ซึ่งไม่มีกรณีตามประกาศของสำนักงานประกันสังคมฉบับลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ข้อ ๓.๒ (๒) ประกาศของสำนักงานประกันสังคมข้อนี้ขัดกับกฎกระทรวงดังกล่าว จึงใช้บังคับไม่ได้ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ในทางตัดสิทธิประโยชน์ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์เป็นผู้ประกันตน โดยเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างด้วยการลาออกในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ และไปขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ ๑ ในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๙๐ วัน ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ข้อ ๓.๒ (๒) ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ก็ตาม แต่เมื่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานต่อเมื่อผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน และต้องอยู่ภายในระยะเวลา ๑๕ เดือน ก่อนการว่างงานและจะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ใน (๑) ถึง (๓) และตามมาตรา ๗๙ ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๒ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา ๗๘ ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ ๑ ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน ๓๐ วันนับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ และข้อ ๓ กำหนดเงื่อนไขให้สำนักงานประกันสังคมงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไว้เพียง ๓ กรณี ตาม (๑) ถึง (๓) เท่านั้น ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานหรือไม่ จึงต้องพิจารณาไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๘ และมาตรา ๗๙ และกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นหลักสำคัญ เมื่อกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๒ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน กรณีลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันว่างงานไว้ว่า ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ ทั้งการไปขึ้นทะเบียนหางานเกินระยะเวลาที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนก็ไม่เป็นเหตุตัดสิทธิหรืองดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว การที่สำนักงานประกันสังคมออกประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ในข้อ ๓.๒ (๒) กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนหางานหลัง ๙๐ วัน หรือหลัง ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่ ๘ ของการว่างงานในกรณีลาออกหรือถูกเลิกจ้างแล้วแต่กรณีไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน อันเป็นการตัดสิทธิประโยชน์ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนเกินไปกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกาศดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับเพื่อตัดสิทธิโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด