คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๑๑/๕๙
ลักษณะความผิดเดียวกัน แต่ระดับความร้ายแรงแตกต่างกัน นายจ้างพิจารณาลงโทษแตกต่างกันได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อปี ๒๕๓๓ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำนักงานใหญ่ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๓,๒๗๘ บาท วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกล่าวหาว่าโจทก์มีส่วน
เกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุนนอกระบบจากพนักงานเครือญาติ และลูกค้าเพื่อลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับนางเนตรนภา ชมชาติ ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรกิจและการตลาด สาขาราชดำเนิน และการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้ารายนางสุดารัตน์ ศรีวิรัญ โดยไม่ถูกต้อง
การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้ได้รับความอับอาย เสียประวัติ เสียชื่อเสียง โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นรายได้ที่โจทก์พึงได้รับจากจำเลย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๙,๙๕๔,๒๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๖,๒๘๙,๑๘๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การพิจารณาโทษทางวินัยของจำเลยเป็นไปด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ร่วมลงทุนธรรมดาเท่านั้นโจทก์ลงทุนในสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นจำนวนถึง ๑๑,๔๓๒ เล่ม เป็นเงิน ๔๒,๕๒๕,๖๑๕.๕๐ บาท โจทก์มีพฤติกรรมชักชวนพนักงานของจำเลยและบุคคลภายนอกให้ร่วมลงทุนและยังเป็นผู้ออกเอกสารสัญญาร่วมทำธุรกิจให้แก่เพื่อนในนามตนเองโดยแสดงออกในฐานะตัวแทนระดมทุนแล้วส่งต่อให้แก่นางเนตรนภาเจ้ามือแชร์สลากกินแบ่งรัฐบาล จนกระทั่งลูกค้าร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฐานฉ้อโกงประชาชน นอกจากจะเป็นความผิดทางแพ่งทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้วยังเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสพัฒนาผลิตภัณฑ์ สำนักงานใหญ่ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๓,๒๗๘ บาท ปี ๒๕๔๕ นางเนตรนภา ชมชาติ พนักงานของจำเลยสาขาราชดำเนิน ชักชวนพนักงานให้นำเงินมาร่วมลงทุนเล่นแชร์สลากกินแบ่งรัฐบาลมีพนักงานและเครือญาติรวมทั้งโจทก์นำเงินมาร่วมลงทุนจำนวนมาก จำเลยมีคำสั่งที่ ธ.๕๐๗/๒๕๕๑ เอกสารหมาย ล.๑๘ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกล่าวหาว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุนนอกระบบจากพนักงาน เครือญาติ และลูกค้าเพื่อลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับนางเนตรนภา และการถอนเงินต่างสาขาจากบัญชีเงินฝากของนางสุดารัตน์โดยไม่ถูกต้อง คณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานพิจารณาแล้วเห็นควรลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกตามบันทึกเอกสารหมาย ล.๑๖ จำเลยจึงมีคำสั่งที่ ธ.๖๑/๒๕๕๒ เอกสารหมาย ล.๑๗ ไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติกรรมของโจทก์เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและเป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หากให้ปฏิบัติงานต่อไปอาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมทุนนอกระบบในลักษณะแชร์ลูกโซ่ อันเป็นการทำธุรกิจที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับจำเลย การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือ ภาพพจน์ และความเชื่อมั่นต่อองค์กรจำเลย เป็นการจงใจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงและมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากบุคคลภายนอกเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การที่โจทก์ออกเอกสารสัญญาร่วมลงทุนรับประกันการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนเป็นการแสดงออกในฐานะเครือข่ายในการระดมทุนอย่างชัดแจ้ง ในขณะที่พนักงานอื่นไม่ปรากฏว่ามีการออกเอกสารให้แก่ผู้ลงทุนเช่นโจทก์ และโจทก์มีเงินลงทุนสูงถึง ๔๒,๕๒๕,๖๑๕.๕๐ บาท พฤติการณ์ของโจทก์จึงมีระดับความร้ายแรงแตกต่างจากพนักงานอื่น แม้ข้อหาที่พนักงานอื่นกระทำผิดมีลักษณะอย่างเดียวกันกับโจทก์และจำเลยใช้ดุลพินิจในการลงโทษที่แตกต่างกัน จะเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการใช้มาตรการทางวินัยต่อพนักงานที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติอยู่บ้างก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจในการลงโทษพนักงานผู้กระทำผิดแต่ละรายเป็นดุลพินิจของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ หากมีการเลือกปฏิบัติในการพิจารณาโทษทางวินัยก็เป็นเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กรของจำเลยเท่านั้น เมื่อกระบวน การสอบสวนลงโทษทางวินัยตลอดจนการปรับบทความผิดที่ใช้ลงโทษโจทก์ถูกต้องตามระเบียบของจำเลยและกฎหมายแล้ว ศาลย่อมไม่อาจก้าวล่วงไปเปลี่ยนแปลงคำสั่งของจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยใช้ดุลพินิจลงโทษโจทก์ด้วยการให้ออกจากการเป็นพนักงานชอบหรือไม่ โจทก์เห็นว่าจำเลยลง โทษพนักงานอื่นที่กระทำผิดเช่นเดียวกับโจทก์เพียงตักเตือนหรือตัดเงินเดือนซึ่งเป็นโทษสถานเบา การที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยให้ออกจึงเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ทำให้โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่ออ้างว่าโจทก์กระทำผิดในลักษณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาลง โทษเช่นเดียวกับพนักงานส่วนใหญ่คือการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดร้ายแรงเช่นกัน เห็นว่า เมื่อพนักงานของจำเลยกระทำผิด อำนาจในการพิจารณาโทษทางวินัยย่อมเป็นของจำ เลย ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของจำเลยได้ก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจในการลง โทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่าขัดต่อระเบียบข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ไม่สุจริต กลั่นแกล้ง หรือไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดแจ้งและแม้พนักงานของจำเลยจะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในลักษณะเดียวกันก็ตาม แต่ถ้าพฤติการณ์ในการกระทำผิดของพนักงานแต่ละรายมีระดับความร้ายแรงแตกต่างกัน จำเลยก็ย่อมใช้ดุลพินิจลงโทษพนักงานแต่ละรายแตกต่างกันได้หากไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย สำหรับกรณีของโจทก์ปรากฏว่ากิจการของจำเลยต้องอาศัยความเชื่อถือจากประชาชนและตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.๒ หมวด ๖ ข้อ ๑.๓ ข้อ ๑.๖ ข้อ ๑.๘ ก็ระบุไว้ความว่า พนักงานต้องรักษาวินัยในการทำงานตามที่กำหนดโดยเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจักต้องได้รับโทษทางวินัยตามที่กำหนดไว้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมทุนนอกระบบในลักษณะแชร์ลูกโซ่ อันเป็นการทำธุรกิจที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากบุคคลภายนอกเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยโจทก์เป็นผู้ช่วยระดมทุนแชร์สลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่นางเนตรนภาด้วยการชักชวนบุคคลภายนอกและเพื่อนพนักงานให้ร่วมลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จนถูกเพื่อนพนักงานและบุคคลภายนอกร้องทุกข์ดำเนินคดี เป็นข่าวในหนังสือ พิมพ์ ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์กระทำผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและโจทก์ออกเอกสารสัญญาร่วมลงทุนรับประกันการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนในนามตนเอง ส่วนพนัก งานอื่นที่เกี่ยวข้องในการระดมทุนไม่ปรากฏว่ามีการออกเอกสารสัญญาร่วมลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนเช่นโจทก์ ทั้งโจทก์มีเงินลงทุนกับนางเนตรนภาสูงถึง ๔๒,๕๒๕,๖๑๕.๕๐ บาท การกระทำของโจทก์ย่อมเป็นการทำลายชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ภาพพจน์ และความเชื่อมั่นต่อองค์กรจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำผิดร้ายแรง พฤติการณ์ของโจทก์จึงมีระดับความร้ายแรงแตกต่างจากพนักงานอื่นดังที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการที่จำเลยลงโทษพนักงานอื่นแตกต่างจากการลงโทษโจทก์ก็เนื่องมาจากพฤติการณ์และระดับความร้ายแรงในการกระทำผิดแตกต่างกัน การใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ลงโทษพนักงานแต่ละรายตามความร้ายแรงในการกระทำผิดแตกต่างกันได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้ดุลพินิจขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวข้างต้น หรือไม่สุจริต หรือกลั่นแกล้งโจทก์ หรือเป็นการลงโทษไม่เหมาะสม ที่จำเลยใช้ดุลพินิจลงโทษโจทก์ด้วยการให้ออกจากการเป็นพนักงานจึงชอบแล้ว
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด