คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๗๙ - ๙๘๘๑/๕๗
หยุดกิจการชั่วคราวตาม มาตรา ๗๕
โจทก์ทั้งสามฟ้องทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสามได้มีประกาศที่ HR ๐๑๐/๒๕๕๒ เรื่อง การหยุดกิจการบางส่วน เพื่อให้ลูกจ้างที่มีรายชื่อ ๔๒ คน (ที่ถูก ๓๒ คน) หยุดงานชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามปกติ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ส่วนวันทำงานที่เหลือจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างปกติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ ต่อมาลูกจ้างได้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามจ่าค่าจ้างส่วนที่ขาดอีกร้อยละยี่สิบห้าของค่าจ้างปกติ และในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการได้มีคำสั่งที่ ๑๑๑ ถึง ๑๑๓/๒๕๕๒ ให้โจทก์ทั้งสามจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดอีกในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของค่าจ้างปกติแก่ลูกจ้างโจทก์ทั้งสามเห็นว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยชอบแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามคำสั่งดังกล่าว ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการที่ ๑๑๑ ถึง ๑๑๓/๒๕๕๒
จำเลยทุกสำนวนให้การว่า ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ผู้จัดการโรงงานแลผู้จัดการ ฝ่ายบุคคลโจทก์ทั้งสามได้ชี้แจงให้ลูกจ้างที่มีรายชื่อให้หยุดงานทราบว่า โจทก์ทั้งสามมีความจำเป็นที่ต้องหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว เนื่องจากประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าน้อยลงและมีจำนวนพนักงานมากกว่างาน โจทก์ทั้งสามจำเป็นจะต้องให้ลูกจ้างที่มีรายชื่อหยุดงานตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยโจทก์ทั้งสามจะจ่ายค่าแรงตามปกติให้ระหว่างวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ส่วนวันทำงานที่เหลือจะจ่ายค่าแรงให้ในอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าแรงปกติโดยโจทก์ทั้งสามกำหนดให้วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา ๘ ถึง ๑๗ นาฬิกา เป็นวันทำงานตามปกติ และกำหนดให้วันอาทิตย์ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยเห็นว่าโจทก์ทั้งสามเลือกปฏิบัติโดยให้ลูกจ้างทั้งสามสิบสองคนหยุดงานเป็นเฉพาะบุคคลจึงไม่จำเป็นและโจทก์ทั้งสามไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อน ๓ วันทำการ เนื่องจากวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เป็นวันหยุดราชการ ส่วนวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์การที่โจทก์ทั้งสามประกาศหยุดดังกล่าวไม่ชอบ จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของค่าจ้างปกติแก่ลูกจ้าง โจทก์ทั้งสามไม่มีเหตุที่จะขอเพิกถอนคำสั่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการที่ ๑๑๑ ถึง ๑๑๓/๒๕๕๒
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสามได้ประกาศหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราวโดยกำหนดให้พนักงานที่ระบุรายชื่อหยุดงานตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยจ่ายค่าจ้างตามปกติระหว่างวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ส่วนวันทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสามจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างปกติ ต่อมาลูกจ้างทั้งสามสิบสองได้ไปร้องขอให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของค่าจ้างปกติ ต่อมาในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีคำสั่งที่ ๑๑๑ ถึง ๑๑๓/๒๕๕๒ ให้โจทก์ทั้งสามจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดในอัตราร้อยละยี่สิบห้าของค่าจ้างปกติแก่ลูกจ้างที่เหลือทั้งสามสิบสอง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสามประกาศให้ลูกจ้างที่ระบุรายชื่อไม่ต้องมาทำงานและให้ไปรายงานตัวในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒ โดยโจทก์ทั้งสามจ่ายค่าจ้างตามปกติระหว่างวันที่ ๒๓ ถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ และจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างปกติ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เป็นต้นไป กรณีมาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว มิใช่เป็นเรื่องหยุดกิจการทั้งหมดชั่วคราวที่จะต้องให้ลูกจ้างหยุดงานทั้งหมดและไม่ปรากฏว่า โจทก์ทั้งสามกลั่นแกล้งลูกจ้างทั้งสามสิบสอง การที่โจทก์ทั้งสามสั่งให้ลูกจ้างไม่ต้องไปทำงาน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เป็นต้นไป โดยจ่ายค่าจ้างตามปกติในวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นั้น เป็นเรื่องนายจ้างไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทั้งสามสิบสองทำในวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แต่ยอมจ่ายค่าจ้างเต็มตามปกติ ซึ่งไม่มีกฎหมายห้าม นายจ้างทำได้ และการประกาศในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ให้หยุดงานชั่วคราวและจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างปกติตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นั้น ถือได้ว่า โจทก์ทั้งสามได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยและลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันทำการแล้ว กรณีมีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตามฟ้องโจทก์
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสามแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราว โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่นายจ้างประกาศแจ้งการหยุดกิจการเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เพื่อหยุดกิจการชั่วคราวเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ทั้งสามแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โดยให้ลูกจ้างไม่ต้องทำงานในวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ แต่รับค่าจ้างตามปกติ และเริ่มจ่ายค่าจ้างในอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างปกติ ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นั้น ถือว่าในวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสามยังมิได้หยุดกิจการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ทั้งสามได้จ่ายค่าจ้างตามปกติแต่โจทก์ทั้งสามไม่ให้ลูกจ้างมาทำงานเท่านั้น โจทก์ทั้งสามจึงเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันที่จ่ายค่าจ้างตามอัตราร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างตามปกติตามบทบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น จึงถือว่าโจทก์ทั้งสามแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ถึง ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ รวมเป็นเวลาสามวันทำการแล้ว การแจ้งการหยุดกิจการชั่วคราวของโจทก์ทั้งสามจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การหยุดกิจการของโจทก์ทั้งสามไม่มีเหตุจำเป็นเนื่องจากการหยุดกิจการของโจทก์ทั้งสามเกิดจากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่โจทก์ทั้งสามสามารถคาดการณ์ได้นั้นเมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามประสบปัญหาจากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๕ และจำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามแจ้งหยุดกิจการโดยไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อน ๓ วันทำงาน คำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานชอบแล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้กลั่นแกล้งลูกจ้าง การหยุดงานมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติและได้แจ้งการหยุดกิจการเป็นหนังสือให้พนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวันทำการแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การหยุดกิจการของโจทก์ทั้งสามไม่มีเหตุจำเป็นเนื่องจากโจทก์ทั้งสามสามารถคาดการณ์ได้นั้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด