คกก.นโยบายฯ ต่างด้าว เห็นชอบให้แรงงานกว่า 2 ล้านคน ทำงานต่อได้อีก 2 ปี
ที่ประชุม คกก.นโยบายฯ เห็นชอบให้ต่างด้าว 3 สัญชาติกว่า 2 ล้านคน ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในปี 62 และ 63 และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ ดำเนินการนำเข้าตามเอ็มโอยู โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพื่อให้สามารถทำงานอยู่ในราชอาณาจักรได้อีก 2 ปี จนถึง 31 มี.ค.65
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ
ซึ่งภายหลังการประชุม นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (ไม่รวมถึงกลุ่มที่นำเข้าตามระบบเอ็มโอยู) และกลุ่มที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว สามารถดำเนินการในลักษณะนำเข้าตามระบบเอ็มโอยู โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อขออยู่ต่อได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
ส่วนการอนุญาตทำงานจะอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา คือ
ใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มี.ค.63 อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 30 ก.ย.64
ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.62 เป็นต้นไป อนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มี.ค.65
สำหรับแรงงานกลุ่มอื่นหรือแรงงานที่ไม่ประสงค์จะดำเนินการตามแนวทางนี้ เมื่อสิ้นสุดการอนุญาตทำงานแล้วต้องเดินทางกลับประเทศ หากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต้องเดินทางเข้ามาทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายตามระบบเอ็มโอยูเท่านั้น
นายสุทธิฯ กล่าวต่อว่า มีแรงงานต่างด้าวจำนวน 2,056,467 คน ที่จะต้องดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.62 หรือภายใน 15 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 มี.ค.62
โดยแรงงานต่างด้าวสามารถยื่นคำขออยู่ต่อในราชอาณาจักรกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ก่อนการอนุญาตสิ้นสุด 90 วัน ณ ที่ตั้งสำนักงานของแต่ละหน่วยงานในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) สำหรับกรุงเทพมหานครมอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้พิจารณา
ส่วนภูมิภาคมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้ ให้กระทรวงแรงงานนำแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562-2563 ตามมติที่ประชุม เสนอ ครม.พิจารณาต่อไป