คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๒๐/๕๘
ประกอบธุรกิจแข่งขัน / ไปทำงานกับนายจ้างอื่น ในลักษณะผิดต่อสัญญาจ้าง เมื่อลูกจ้างได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้างตามสัญญาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะบังคับ / ห้ามทำงานตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างอีกต่อไป
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ โจทก์จ้างจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานตำแหน่งพนักงานขาย เริ่มทำงานวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันวันละ ๑๘๔ บาท โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์และภายหลังออกจากงานแล้วจะไม่ไปประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์หรือเข้าทำงานกับบุคคลหรือนิติบุคคลใดอันมีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ในระยะเวลา ๒ ปี นับแต่วันที่ออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ หากผิดสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวน ๒ เท่าของอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาที่ฝ่าฝืน มีจำเลยที่ ๒ ค้ำประกันการทำงานยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและวางเงินค้ำประกันจำนวน ๓,๐๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานโดยให้มีผลในวันดังกล่าว แต่โจทก์ยังไม่ได้อนุมัติเพราะจำเลยที่ ๑ ลาออกโดยไม่ยื่นล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๑ เดือนให้ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์ ภายหลังยื่นใบลาออกจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทสยามซานิทารีอินดัสทรี จำกัดหรือในเครือซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์เช่นเดียวกับโจทก์ โดยเข้าปฏิบัติงานวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ประจำที่ห้างสรรพสินค้าโฮมโปร สาขาราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกับที่โจทก์เคยส่งจำเลยที่ ๑ ไปปฏิบัติหน้าที่ก่อนจำเลยที่ ๑ จะลาออก การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและแข่งขันกับกิจการของโจทก์หรือเข้าทำงานกับนิติบุคคลซึ่งมีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ในระยะเวลา ๒ ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ลาออก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๑ เลิกกระทำผิดสัญญาแต่เพิกเฉย และมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองมิให้ประพฤติผิดสัญญาจ้างแรงงานและเรียกค่าเสียหายแต่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาโดยห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์หรือเข้าทำงานกับบุคคลหรือนิติบุคคลใด
อันมีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของโจทก์ในระยะเวลา ๒ ปีนับแต่ออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ และชำระค่าเสียหายจำนวน ๔๔,๐๑๖ บาท กับค่าเสียหายอัตราวันละ ๕๓๘ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๐) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ โจทก์จ้างจำเลยที่ ๑ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขาย เริ่มปฏิบัติหน้าที่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันวันละ ๑๘๔ บาท ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.๓ และมีข้อตกลงว่ากรณีจำเลยที่ ๑ พ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์แล้วห้ามจำเลยที่ ๑ ไปทำงานยังที่แห่งอื่นภายในกำหนดระยะเวลา ๒ ปี มีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อมาวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๑ ยื่นหนังสือลาออกโดยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ ๑๐ และเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ยังไปทำงานกับบริษัทสยามซานิทารีอินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ ๑๑ ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่ค่าเสียหายที่เรียกมามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับและเรียกมาสูงเกินส่วน ทั้งการไปทำงานกับบริษัทดังกล่าวเป็นเพียงพนักงานขายเท่านั้นมิได้มีโอกาสที่จะไปแข่งขันในทางธุรกิจกับโจทก์ ความเสียหายที่โจทก์จะพึงได้รับย่อมไม่สูงมากนัก เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ ๑ รับผิด ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนค่าเสียหายรายวันเป็นเรื่องอนาคตไม่มีพยานหลักฐานว่าเกิดความเสียหายถึงขนาดจริง จึงยังไม่มีเหตุต้องรับผิด เมื่อจำเลยที่ ๑ รับผิดชำระค่าเสียหายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ ไปประกอบกิจการในลักษณะที่สัญญาจ้างแรงงานห้ามไว้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จะต้องห้ามจำเลยที่ ๑ ไม่ให้ทำงานกับบริษัทสยามซานิทารีอินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลอื่นมีกำหนดระยะเวลา ๒ ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๑ ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้านั้น แม้ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ ๑ ลาออกแล้ว ภายใน ๒ ปี จำเลยที่ ๑ ได้ไปทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาซึ่งจำ เลยที่ ๑ ต้องรับผิดด้วยการงดเว้นการกระทำตามที่กำหนดโดยเจตนาของคู่กรณีด้วยคือการงดเว้นการทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าซึ่งห้ามจำเลยที่ ๑ มิให้ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าได้ก็ตาม แต่เมื่อการขอให้บังคับห้ามจำเลยที่ ๑ มิให้ทำงานกับบริษัทอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ล่วงเลยไปแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ ตามคำขอบังคับของโจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด