คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๙๘/๕๗
เลิกจ้างเนื่องจากปรับโครงสร้างองค์กร แต่กำหนดรายชื่อไว้ล่วงหน้า ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๓ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในหน้าที่ Call Center อัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ ๓๑,๑๓๐ บาท เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๕๔ จำเลยมีนโยบายปรับผังโครงสร้างองค์กรเพื่อให้การดำเนินงานของจำเลยมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจประกันภัยในเวลานั้นและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับงานและกำลังคน รายได้กับความเหมาะสม จำเลยจึงมีนโยบายที่ต้องปรับลดพนักงานบางส่วนในหน่วยงาน จึงได้มีโครงการ Early Retire หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่เนื่องจากโจทก์ไม่สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำเลยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแรงงาน ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน ๖๒๒,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๕) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๓๓ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้เชี่ยวชาญรองหัวหน้าส่วน แผนกอุบัติเหตุกลาง ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๑,๓๓๐ บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยอ้างเหตุว่าพนักงานมากเกินความต้องการประกอบกับเมื่อจำเลยได้พิจารณาจากความรู้ความสามารถและองค์ประกอบหลายด้านของโจทก์แล้ว เห็นว่าโจทก์ไม่เหมาะสมกับโครงสร้างใหม่ขององค์กร อีกทั้งจำเลยไม่สามารถหาตำแหน่งงานใหม่ที่เหมาะสมทดแทนให้โจทก์ได้ แล้ววินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า กรณีเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากมีบริษัทประกันภัยที่มีการทำธุรกิจขนาดใกล้เคียงกับจำเลยหลายบริษัท เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จำเลยจะมีรายได้จากเบี้ยประกันภัยต่ำสุดในขณะที่มีพนักงานมากกว่า จึงต้องปรับลดพนักงานหรือหน่วยงานตามผังโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับงาน กำลังคน รายได้ และความเหมาะสม โดยจัดให้มีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด และต่อมาได้มีการเลิกจ้างพนักงานรวมทั้งโจทก์ด้วยเป็นการเลิกจ้างตามข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. ๓ ข้อ ๔๔ (๔) และตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเป้าหมายที่จะเลิกจ้างพนักงานตามรายชื่อที่ได้ทำขึ้นไว้ก่อนแล้วทุกคน รวมทั้งโจทก์ด้วยโดยทำเป็นโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้พนักงานเหล่านั้นสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่เมื่อโจทก์ไม่ยอมสมัครเข้าร่วมด้วย ต่อมาก็ยังถูกจำเลยเลิกจ้างอยู่นั้นเอง ทั้งกระบวนการคัดเลือกรายชื่อพนักงานตามรายชื่อดังกล่าว ก็ยังไม่พอให้รับฟังว่าโจทก์ไม่มีความเหมาะสมอย่างไรที่ไม่อาจจะจ้างต่อไปได้อีก ดังนี้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการปรับลดพนักงานตามผังปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับงาน กำลังคนรายได้ และความเหมาะสมตามที่จำเลยอ้าง และเมื่อไม่มีเหตุผลอันสมควรประการอื่นที่จะเลิกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายให้ตามฟ้อง และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายสูงเกินส่วน แม้จะอ้างเหตุมาในอุทธรณ์ด้วยว่าเป็นการกำหนดโดยไม่คำนึงถึงมูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรง งาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ ก็ตาม อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยต่างก็เป็นอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายใหม่ให้ต่างไปจากที่ศาลแรงงานกลางกำหนด อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด