คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๙๒๐/๕๗
กรณีไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจแข่งขันหรือไม่ถือว่าทำงานกับนายจ้างใหม่ในลักษณะธุรกิจเดียวกับนายจ้าง
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตสี น้ำมันแลคเกอร์ น้ำมันทินเนอร์ และน้ำมันวานิช เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ โจทก์ทำสัญ ญาจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งผู้แทนขาย โดยให้เริ่มทำงานวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันการ ทำงานของจำเลยที่ ๑ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ลาออกโดยให้มีผลในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์อันเป็นการผิดสัญญาจ้างข้อ ๘ และ ๙ ที่กำหนดห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ภายในระยะเวลา ๓ ปี นับตั้งแต่วันที่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินสิบเท่าของค่าจ้างเดือนสุดท้าย อัตราค่าจ้างสุดท้ายของจำเลยที่ ๑ คือเดือนละ ๔๒,๘๑๐ บาท จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย ๔๒๐,๘๑๐ บาท แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ออกจากงานที่ทำอยู่ หากไม่ลาออกจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันหรือแทนกันชำ ระค่าเสียหายอัตราเดือนละ ๔๒,๘๑๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ จะออกจากงาน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย ๔๒๐,๘๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็น ต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ลาออกตามระเบียบของโจทก์โดยโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ลาออกและโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของจำเลยที่ ๑ ตามฟ้องเกินความเป็นจริงไปเป็นเงิน ๓๕,๓๑๐ บาท เงินส่วนที่เกินดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างธุรกิจของนายจ้างที่จำเลยที่ ๑ ทำงานเป็นลูกจ้างนั้นคือการจำหน่ายสีน้ำมันชนิดพ่นที่ใช้กับโลหะให้แก่กลุ่มลูกค้ารถยนต์และเรือเดินทะเล และจำหน่าย สายไฟฟ้ายี่ห้อยาซากิ ฟูลเลอร์ และหลอดไฟฟ้า ส่วนโจทก์จำหน่ายสีทาอาคารและน้ำมันทาพื้นไม้ และไม่ได้จำหน่ายสายไฟฟ้ายี่ห้อยาซากิ ฟูลเลอร์และ หลอดไฟฟ้า ธุรกิจของนายจ้างที่ลูกจ้างทำงานด้วยนั้นจึงไม่ใช่ธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่นโดยมีตำแหน่งหน้าที่พนักงานขายไม่ได้เป็นผู้ประกอบธุรกิจเอง ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่มีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนหรือทำ การแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์หรือมีส่วนพัฒนาสินค้าแต่อย่างใด โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ ๑ ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวและไม่มีสิทธิบังคับให้ออกจากงานได้ สัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ และข้อ ๙ ที่ห้ามประกอบอาชีพภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่ออกจากงานมิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายจำนวนสิบเท่า เป็นการเอาเปรียบจำเลยที่ ๑ มากเกินสมควรและเกินเหตุ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ข้อสัญญานี้ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ ตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งสัญญาข้อ ๘ ระบุว่า ในกรณีที่ลูกจ้างได้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทฯ ไม่ว่าด้วยเหตุใดภายใน ๓ ปี นับตั้งแต่พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง ลูกจ้างจะไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันดังต่อไปนี้ ๘.๑ จะไม่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับธุรกิจของนายจ้างไม่ว่าด้วยตนเองหรือตัวแทน ๘.๒ จะไม่ มีส่วนร่วมส่งเสริมหรือสนับสนุนบุคคลอื่นในการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับธุรกิจของนายจ้าง หรือเข้ารับเป็นหุ้นส่วนไม่ว่าจำกัดความรับผิดไม่ว่าด้วยตนเองหรือตัวแทน ๘.๓ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อมกับการพัฒนาทำการผลิต หรือจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นการแข่งขันกับผลิต ภัณฑ์หรือภายใต้เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ของนายจ้าง ซึ่งตนเคยมีส่วนเกี่ยว ข้องรับรู้อยู่ด้วยในระหว่างที่ทำงานกับนายจ้าง ไม่ว่าการนั้นจะอยู่ในฐานะลูกจ้างหรือตัวแทนสัญญาข้อ ๙ ระบุว่า หากลูกจ้างฝ่าฝืนสัญญาในข้อ ๘ ลูกจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้างเป็นจำนวนเงินสิบเท่าของค่าจ้างสามสิบวันสุดท้ายของการทำงาน จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขายซึ่งมีหน้าที่ขายกระดาษทรายยูริเทรน เชนไดรท์ และสีทาบ้าน โดยดูแลการขายในพื้นที่ ๓ จังหวัด ดังนี้ นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร โจทก์จัดแบ่งหน่วยงานเป็น ๒ หน่วย คือหน่วยงานสีทาอาคารและสีทาไม้ จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานในหน่วยงานสีทาไม้ ต่อมาวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ ลาออกแล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้แทนขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวดซึ่ง ประกอบกิจการจำหน่ายสีพ่นรถยนต์และมีที่ตั้งสำนักงานเลขที่ ๕ ถนนดำรงลักษณ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร แล้ววินิจฉัยว่า งานที่จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบขณะเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้นเป็นงานคนละลักษณะกับที่ทำงานให้แก่ห้างห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวด สัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพแม้ไม่เป็นโมฆะ แต่เป็น การจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๕ ข้อสัญญาดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ดังนี้ เมื่อ จำเลยที่ ๑ ทำงานเป็นเพียงพนักงานขายซึ่งรับจ้างขายสินค้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์กลับจำกัดสิทธิเสรีภาพในการขายโดยห้ามออกไปเป็นพนักงานขายของบุคคลอื่น กรณีจึงไม่เป็นธรรมและไม่พอสมควรแก่กรณี ข้อสัญญาดังกล่าวไม่อาจใช้บังคับได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจ้างแรงงานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ และข้อ ๙ หรือไม่ และสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ และข้อ ๙ มีผลบังคับได้หรือไม่เพียงใด โจทก์อุทธรณ์ว่าการที่จำเลยที่ ๑ ออกจากงานแล้วไปทำงานเป็นลูกจ้างกับนายจ้างรายใหม่ที่ประกอบธุรกิจขายสีน้ำมันชนิดพ่นที่ใช้กับโลหะ เช่น รถยนต์ เรือเดินทะเล ซึ่งประกอบธุรกิจขายสีเช่นเดียวกับโจทก์ เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ และข้อ ๙ นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.๒๕๔๐ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการจำเลยที่ ๑ สมัครใจทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์โดยตกลงงดเว้นไม่ทำงานกับนายจ้างที่ประกอบกิจการเช่นเดียวกับโจทก์หลังจากสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างภายใน ๓ ปี และสัญญาจ้างแรงงานมีค่าตอบแทน ไม่ใช่ปิดทางทำมาหาได้หรือการประกอบอาชีพของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพมากเกินที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลบังคับได้นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวดจำหน่ายสีพ่นรถยนต์ ขณะที่โจทก์จำหน่ายสีทาอาคารและสีทาไม้ จำเลยที่ ๑ เคยเป็นพนักงานขายสีทาไม้ของโจทก์แล้วลาออกมาเป็นผู้แทนขายสีพ่นรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวด ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยฮวดจึงไม่ได้ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับธุรกิจของโจทก์และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ มีส่วนร่วมหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในกิจการที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับธุรกิจของโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้ผิดสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายตามข้อ ๙ ให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าสัญญาจ้างแรงงานข้อ ๘ และข้อ ๙ มีผลบังคับได้หรือไม่ เพียงใดนั้นไม่จำต้องวินิจ ฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด