คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๒๒/๕๗
สัญญาฝึกอบรม นายจ้างกำหนดเบี้ยปรับได้ เป็นสัญญาที่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ในตำแหน่งนักบินที่ ๒ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศกับโจทก์เพื่อฝึกอบรมหลักสูตร Flight Simulator Training (การฝึกบินกับเครื่องจำลองการบิน) ที่ศูนย์ฝึกอบรมของ PT. Grahadi Angkasa เมืองจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ รวมเป็นเวลา ๑๔ วัน โดยโจทก์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าตอบแทนระหว่างการฝึกอบรม เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมแล้วจำเลยที่ ๑ ต้องทำงานในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี หรือ ๑,๐๙๕ วัน หากผิดสัญญาจำเลยที่ ๑ ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปในการฝึกอบรมและค่าตอบแทนคืนโจทก์ทั้งจำนวนพร้อมทั้งค่าเสียหายเป็นจำนวน ๓ เท่าของจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้ให้โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายค่าตอบแทน และค่าเสียหายทั้งหมดหรือชดใช้บางส่วน จำเลยที่ ๑ ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์เรียกร้อง จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ หลังจากสำเร็จการฝึกอบรมจำเลยที่ ๑ กลับมาทำงานกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ แล้วลาออกจากงานมีผลในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๗ รวมระยะเวลาที่ทำงานชดใช้ทุน ๓๕๒ วัน แล้วไปสมัครงานในตำแหน่งนักบินกับบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมประกอบด้วยค่าฝึกอบรมที่บริษัทไทยเจอเนอรัลเอวิชั่นเทคโนโลยี จำกัด ค่า Simulator (เครื่องจำลองการบิน) ค่า Fix Base (การฝึกบินกับเครื่องบินแบบไม่มีการเคลื่อนไหว) ค่า Full Flight (การฝึกบินกับเครื่องบินแบบที่มีการเคลื่อนไหว) ค่าธรรมเนียม การโอนเงิน ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าตั๋วเครื่องบินของนักบิน ครูฝึก และเจ้าหน้าที่ กรมการบินพาณิชย์ ค่าภาษีสนามบิน และค่าที่พัก เป็นเงินรวม ๓๙๗,๘๕๗.๒๙ บาท ทั้งต้องรับผิดในค่าเสียหาย ๓ เท่าของค่าใช้จ่าย เป็นเงิน ๑.๑๙๓,๕๗๑.๘๗ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๕๙๑,๔๒๙.๑๖ บาท จำเลยที่ ๑ ทำงานมาแล้ว ๓๕๒ วัน คิดเป็นเงิน ๕๑๑,๕๘๒.๗๑ บาท โจทก์ลดเงินที่จำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้ลงตามส่วน คงเหลือเงินที่ต้องชดใช้แก่โจทก์ ๑,๐๗๙,๘๔๖.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ลาออกถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๘๔,๓๑๖.๗๘ บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยที่จำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้แก่โจทก์ ๑,๑๖๔,๑๖๓.๒๓ บาท จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑,๑๖๔,๑๖๓.๒๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๐๗๙,๘๔๖.๔๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ สำเร็จการฝึกอบรมแล้วโจทก์ไม่จ่ายเงินค่าตำแหน่งเพิ่มเติมและย้อนหลังตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๕ ถึงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖ รวม ๙๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ตามที่ตกลงกัน ไม่จ่ายค่าจ้างและค่าตำแหน่งเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ ในวันที่ ๑๕ ของทุกเดือนตามข้อตกลงและสภาพการจ้าง ทำให้จำเลยที่ ๑ ขาดโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่จึงได้ออกจากงานโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ ๑ ค่าฝึกอบรมในประเทศไม่ใช่ค่าใช้จ่ายตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ ค่าธรรมเนียม การโอนเงิน และค่าเบี้ยเลี้ยงกับค่าตั๋วเครื่องบินของครูฝึกและเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระตามปกติ ไม่ได้เป็นการจ่ายเฉพาะเพื่อการฝึกอบรมจำเลยที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียว ค่าปรับ ๓ เท่า เป็นการกำหนดเบี้ยปรับหรือค่าเสียหายในอนาคต ไม่ใช่ค่าเสียหายที่แท้จริง ค่าเสียหายของโจทก์เป็น การลงทุนในบุคลากรอันเป็นต้นทุนทางธุรกิจจำเลยที่ ๑ ทำงานให้โจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าตอบแทนทั่วไป ย่อมเพียงพอแก่ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแล้ว โจทก์จึงไม่เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี และเป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับ ผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งนักบิน (ที่ถูกเป็นนักบินที่ ๒) เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ โจทก์ส่งจำเลยที่ ๑ ไปฝึกอบรมในต่างประเทศ มีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน ตามเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ ในรุ่นที่ฝึกอบรมในประเทศต่างๆ มีทั้งหมด ๘ คน โดยจำเลยที่ ๑ กับพนักงานอีก ๑ คน ไปฝึกอบรมที่ประเทศอินโดนีเซียระหว่างวันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๖ รวม ๑๔ วัน ผู้ฝึกอบรมเป็นบริษัทเอกชนซึ่งบริษัทใดก็สามารถส่งพนักงานไปฝึกอบรมได้ หลังจากสำเร็จการฝึกอบรมแล้ว จำเลยที่ ๑ กลับมาทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๗ แล้วลาออกจากงาน ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในประเทศไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่ก่อนไปฝึกอบรมในต่างประเทศต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมในประเทศก่อน ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าตั๋วเครื่องบินของเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์กำหนดไว้ในสัญญาและโจทก์ได้เฉลี่ยเป็นรายบุคคลแล้ว ค่าใช้จ่ายอื่นเป็นไปตามคำฟ้อง จำเลยทั้งสองสละข้อต่อสู้ในเรื่องจำเลยที่ ๑ ลาออกจากงานเพราะโจทก์ไม่จ่ายเงินค่าตำแหน่งเพิ่มเติมและย้อนหลังไม่จ่ายค่าจ้างและค่าตำแหน่งตามกำหนดในวันที่ ๑๕ ของทุกเดือน จำเลยที่ ๑ ลาออกจากงานโดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ ๑ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ส่งจำเลยที่ ๑ ไปฝึกอบรมในต่างประเทศก็ย่อมต้องการให้กลับมาทำงานกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ ลาออกก่อนครบกำหนด ๓ ปี เป็นการผิดสัญญาจำเลยที่ ๑ กลับมาทำงานให้โจทก์เป็นเวลาเกือบ ๑ ปี เทียบกับระยะเวลาฝึกอบรม ๑๔ วัน ประกอบกับพฤติ การณ์แห่งคดีแล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดกรณีผิดผิดสัญญาและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี สูงเกินส่วน สมควรกำหนดลดลงเป็นจำนวนพอสมควร จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย พิพาก ษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๗ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่า ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยว่าค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับเพียงใด การปรับลดค่าปรับเป็นจำนวนพอสมควรนั้นปรับลดจากส่วนค่าเสียหายจำนวนใดและจากค่าปรับจำนวนใด ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความชัดเจน ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลปรับลดค่าเสียหาย
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าค่าเสียหายกรณีจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลแรงงานกลางจะลดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง ก็ได้ แต่ต้องลดลงเป็นจำนวนพอสมควร และในการวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน การที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโดยไม่ให้โอกาสโจทก์นำสืบถึงความเสียหายของโจทก์และนำสืบถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายจึงเป้นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิ พากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์จำเลยโดยฟังข้อเท็จจริงในเรื่องค่าเสียหาย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางให้คู่ความสืบพยานประเด็นค่าเสียหายแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าค่าเช่าเครื่องบินจำลอง ค่าใช้จ่ายฝึกกับเครื่องบินแบบไม่มีการเคลื่อนไหว ค่าใช้จ่ายฝึกกับเครื่องบินที่มีการเคลื่อน ไหว ค่าพาหนะ ค่าภาษีสนามบิน ค่าที่พัก กับค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าตั๋วเครื่องบินของจำเลยที่ ๑ ครูฝึกบิน และเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ เป็นค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ ค่าใช้จ่ายฝึกอบรมที่บริษัทไทยเจอเนอรัลเอวิชั่นเทคโนโลยี จำกัด ในประเทศไทยและค่าธรรมเนียมการโอนเงินให้ผู้จัดการฝึกอบรมในประเทศอินโดนีเซียไม่ใช่ค่าใช้จ่ายตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ส่งเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อประเมินผลการฝึกอบรมของจำเลยที่ ๑ อันเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของโจทก์ค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ไม่สมควรนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งจำเลยที่ ๑ ไปฝึกอบรม ส่วนค่าใช้จ่ายของครูฝึกที่เดินทางไปทำหน้าที่ช่วยเหลือจำเลยที่ ๑ เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ นำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ได้ จำเลยที่ ๑ รับผิดในค่าเช่าที่พักเพียง ๑๔ วัน ตามที่ไปฝึกอบรมจริง จำเลยที่ ๑ ไปฝึกอบรมในต่างประเทศถือเป็นการไปปฏิบัติงานให้โจทก์ในต่างประเทศ มีสิทธิได้รับค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยง โจทก์นำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไม่ได้ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่โจทก์เรียกจากจำเลยที่ ๑ ได้รวมเป็นเงิน ๒๓๑,๓๖๔.๒๐ บาท ซึ่งเป็นจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับ ค่าเสียหายตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ๒๓๑,๓๖๔.๒๐ บาท รวมกับค่าเสียหาย ๓ เท่า ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมอีก ๖๙๔,๐๙๒.๖๐ บาท เป็นเงิน ๙๒๕,๔๕๖.๘๐ บาท ค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดกรณีผิดสัญญาเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถนำความรู้จากการฝึกอบรมไปใช้กับการทำงานให้นายจ้างรายใหม่ได้เพราะเป็นเครื่องบินคนละประเภทกัน โจทก์นำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางภาษี หลังจากฝึกอบรมจำเลยที่ ๑ ทำงานให้โจทก์แล้ว ๓๕๒ วัน เทียบกับระยะเวลาฝึกอบรม ๑๔ วัน เท่ากับทำงานชดใช้แล้ว ๒๕ เท่าของระยะเวลาฝึกอบรม สมควรลดค่าเสียหายส่วนเบี้ยปรับลงเหลือ ๓๕๐,๐๐๐ บาท และลดดอก เบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี โจทก์ไม่นำสืบว่าเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้วันใด จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า ก่อนทำงานกับโจทก์ จำเลยที่ ๑ รับราชการที่กองทัพอากาศทำหน้าที่นักบินเครื่องบินขับไล่และเป็นครูการบินของกองทัพอากาศ โจทก์ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้าและผู้โดยสารทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๒๐๐ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างในตำแหน่งนักบินที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จำเป็นต้องฝึกอบรมทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศซึ่งเป็นการฝึกบินทั้งบนเครื่องบินจำลองและเครื่องบินจริงตามระยะเวลาที่กรมการบินพาณิชย์ (กรมการขนส่งทางอากาศ) กำหนดและต้องถูกควบคุมดูแลจนกรมการบินพาณิชย์เห็นว่ามีความสามารถแล้วจึงจะได้รับใบอนุญาตขับเครื่องบินรับส่งผู้โดยสาร โจทก์จ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ เป็นเงิน ๒๓๑,๓๖๔.๒๐ บาท หลังจากลาออกจากงานแล้วโจทก์ไปทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ซึ่งใช้เครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๓๐๐ เป็นเครื่องบินคนละชนิดกับของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ต้องเข้ารับการฝึกอบรมใหม่
มีปัญหาวินิจฉัยว่าสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๖ และข้อ ๗ เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ กับโจทก์แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ยังไม่มีใบอนุญาตให้ปฏิบัติการบินในเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๒๐๐ ที่ต้องใช้ในการทำงานให้โจทก์ตามสัญญาว่าจ้าง จำเลยที่ ๑ จึงต้องเข้ารับการฝึกอบรมตามที่ระบุในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ ให้สามารถทำหน้าที่นักบินที่ ๒ ในเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๒๐๐ ที่โจทก์ใช้ในการประกอบกิจการได้ การฝึกอบรมมีผลให้จำเลยที่ ๑ ได้รับใบอนุญาตเป็นนักบินที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินในเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ - ๒๐๐ ทำให้จำเลยที่ ๑ สามารถทำงานตามสัญญาว่าจ้างได้ โดยโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน การที่จำเลยที่ ๑ ต้องฝึกอบรมจึงเป็นประ โยชน์ของจำเลยที่ ๑ โดยแท้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาจำนวน ๒๓๑,๓๖๔.๒๐ บาท ที่โจทก์ต้องจ่ายไปเพื่อให้จำเลยที่ ๑ ปรับคุณสมบัติของตนให้ทำงานตำแหน่งนักบินที่ ๒ ตามสัญญาว่าจ้างได้กับการที่จำเลยที่ ๑ ฝึกอบรมเป็นเวลา ๑๔ วัน แล้วต้องกลับมาทำงานให้โจทก์ไม่น้อยกว่า ๓ ปี ตามที่ระบุในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๖ ข้อกำหนดให้ต้องกลับมาทำงาน ๓ ปี ไม่ทำให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แม้โจทก์มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกจ้างก็ไม่ใช่กรณีเป็นข้อตกลงที่ทำให้โจทก์ได้เปรียบ จำ เลยที่ ๑โจทก์จ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเอกสารหมาย จ.๑ ไปก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ข้อกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนด้วยการทำงานให้โจทก์โดยได้รับค่าจ้างเป็นค่าตอบแทน หากไม่ทำงานให้โจทก์ครบกำหนด ๓ ปี ตามข้อ ๖ ก็ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนโจทก์เต็มจำนวนตามข้อ ๗ วรรคหนึ่ง พร้อมชำระเบี้ยปรับเป็นจำนวนเงิน ๓ เท่าของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามข้อ ๗ วรรคสอง และดอกเบี้ยตามข้อ ๗ วรรคสาม เป็นข้อกำหนดที่มีลักษณะปกป้องกิจการของโจทก์ไม่ให้สูญเสียพนักงานที่โจทก์ลงทุนส่งไปฝึกอบรมปรับคุณสมบัติให้ครบถ้วนจนกรมการบินพาณิชย์ออกใบอนุญาตให้ ทั้งจำเลยที่ ๑ สามารถเลือกได้ว่าหลังจากสำเร็จการฝึกอบรมแล้วจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนพร้อมกับเสียเบี้ยปรับและดอกเบี้ยข้อกำหนดเบี้ยปรับ ๓ เท่า ของจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้คืนและดอกเบี้ยตามข้อ ๗ วรรคสองและวรรคสาม จึงไม่ใช่ข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับภาระมากกว่าที่พึงคาดหมายได้ตามปกติ สัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศตามเอก สารหมาย จ.๑ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ไม่เป็นข้อตกลงที่มีผลให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถึงไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔ วรรคสาม และมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และข้อที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ โดยลดค่าเสียหายส่วนเบี้ยปรับลงบางส่วนนั้นเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด