คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๑๗๗ - ๑๕๑๗๘/๕๗
ค้ำประกันการทำงาน หลักประกันการทำงาน การหักลบกลบหนี้ค่าเสียหายจากการทำงาน
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนกันยายน ๒๕๔๗ และเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานขาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท และ ๑๑,๐๐๐ บาท ตามลำดับกำหนดจ่ายทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ โจทก์ทั้งสองยื่นใบลาออกให้มีผลในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ แต่จำเลยให้ออกจากงานทันทีในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และ ๑๑,๐๐๐ บาท ตามลำดับ และในการทำงานจำเลยให้โจทก์ที่ ๑ นำเงินเข้าฝากในธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพญาไท ประเภทเงินฝากประจำ ๑๒ เดือน วงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันการทำงานของโจทก์ที่ ๑ วงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นำมามอบให้จำเลยเก็บรักษาไว้เพื่อประกันความเสียหายในการทำงานของโจทก์ที่ ๑ และจำเลยได้หักเงินค่าจ้างของโจทก์ที่ ๒ ไว้เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท จำนวน ๔ เดือน เป็นประกันรวมเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท จำเลยตกลงคืนหนังสือค้ำประกันและเงิน ประกันดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองเมื่อออกจากงานโดยไม่ได้ก่อความเสียหาย เมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นใบลาออกแล้วจำเลยให้โจทก์ทั้งสองออกจากงานโดยโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ก่อความเสียหายให้แก่จำเลย จำเลยจึงต้องคืนหนังสือค้ำประกันและเงินประกันดังกล่าวให้ นอกจากนี้จำเลยได้หักค่าจ้างในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ของโจทก์ที่ ๑ โดยไม่มีเหตุเป็นเงิน ๗,๐๒๕ บาท จำเลยต้องคืนโจทก์ที่ ๑ ด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้าง ๗,๐๒๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี และค่าเสียหาย ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนหนังสือค้ำประกันการทำงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และชำระค่าเสียหาย ๑๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และคืนเงินประกันการทำงาน ๑๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานขายของจำเลย มีหน้าที่นำสินค้าของจำเลยและเงินค่าสวัสดิการไปส่งมอบให้แก่ลูกค้า รวมทั้งเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าและนำสินค้าที่ให้ลูกค้าทดลองใช้คืนแก่จำเลย โจทก์ที่ ๑ ได้มอบหนังสือค้ำประกันความเสียหายในการ ทำงานของธนาคารตามฟ้อง และนางทองสุข แสนเลิศ ได้ยินยอมผูกพันตนเข้าค้ำประกันการทำงานของโจทก์ที่ ๑ โดยยอมรับผิอย่างลูกหนี้ร่วมต่อจำเลย ส่วนโจทก์ที่ ๒ วางเงินประกันความเสียหายในการทำงานไว้กับจำเลยตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองตกลงว่าหากกระทำการใดๆ ทำให้จำเลยได้รับความเสียจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงหลักประกันและหรือนำเงินประกันมาหักใช้ค่าเสียหายได้ทั้งหมด เมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นใบลาออกให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ จำเลยได้อนุมัติแล้ว แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองกระทำการทุจริตต่อหน้าที่และไม่มาทำงานตั้งแต่ วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ ๑ ยินยอมให้หักเงินค่าจ้างตามฟ้องเนื่องจากการกระทำความเสียหายของโจทก์ที่ ๑ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด และภายหลังจำเลยได้ทำการตรวจสอบแล้วพบว่าโจทก์ทั้งสองไม่คืนเงินสำรองค่าเดินทางที่รับไปจากจำเลยและกระทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยหลายประการโดยโจทก์ที่ ๑ กระทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยในขณะเป็นลูกจ้าง โจทก์ที่ ๑ และนางทองสุขต้องร่วมกันชำระเงินแก่จำเลยรวมเป็นเงิน ๗๙,๕๘๕.๐๗ บาท ส่วนโจทก์ที่ ๒ ทำให้เกิดความเสียหายและต้องชำระเงินแก่จำเลยรวมเป็นเงิน ๗๒,๙๑๘.๓๘ บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ที่ ๑ และนางทองสุขร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน ๗๙,๕๘๕.๐๗ บาท และให้โจทก์ที่ ๒ ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน ๗๒,๙๑๘.๓๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามกฎหมายเพื่อให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ แต่จำเลยให้พนักงานของจำเลยโทรศัพท์แจ้งโจทก์ทั้งสองว่าให้การลาออกมีผลทันที โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด โจทก์ที่ ๑ ยอมรับว่าได้รับเงินสำรองจ่ายและต้องคืนให้จำเลยจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท แต่ต้องนำเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ที่ ๑ มาหักก่อน และโจทก์ที่ ๒ ยอมรับว่าได้รับเงินสำรองจ่ายจากจำเลยจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท จริง แต่จำเลยต้องนำเงินที่หักไว้จากโจทก์ที่ ๒ จำนวน ๑๒,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายเป็นเงินเดือนสุดท้าย ๑๑,๐๐๐ บาท มาหักกลบลบหนี้คงเหลือเงินที่ต้องชำระให้โจทก์ที่ ๒ อีก ๘,๐๐๐ บาท ฟ้องแย้งของจำเลยข้อ ๓.๔, ๔.๒, ๔.๓, ๔.๔ เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ทั้งสองไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางทองสุข แสนเลิศ เข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ที่ ๑ ศาลแรงงานกลางอนุญาต
โจทก์ร่วมขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์ที่ ๑ ชำระค่าเสียหายแก่จำเลย ๑๕,๕๖๐.๗๔ บาท เมื่อจำเลยได้รับชำระแล้วให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์ที่ ๑ วางไว้คืนแก่โจทก์ที่ ๑ และให้จำเลยคืนเงินประกันแก่โจทก์ที่ ๒ จำนวน ๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันพิพากษา ( วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ ๒ ให้ยกฟ้องจำเลยสำหรับโจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเคยเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานขาย โดยโจทก์ที่ ๑ มีโจทก์ร่วมเป็นผู้ค้ำประกัน และมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้แก่จำเลยไว้เพื่อค้ำประกันการทำ งาน ส่วน โจทก์ที่ ๒ ถูกจำเลยหักเงินค่าจ้างไว้เป็นประกันความเสียหาย จำเลยตกลงจะคืนหนังสือค้ำประกันและเงิน ประกันให้แก่โจทก์ทั้งสองเมื่อออกจากงานโดยไม่ก่อความเสียหาย จำเลยเคยมอบเงินสำรองจ่ายเป็นค่าเดินทางให้โจทก์ทั้งสองไว้คนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ซึ่งจะต้องคืนให้จำเลยเมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ โจทก์ทั้งสองยื่นใบลาออกโดยให้มีผลในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสองได้อนุมัติแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่ได้มาทำงานอีกตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยข้อ ๓.๔, ๔.๒ และ ๔.๓ ไม่เคลือบคลุม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยข้อ ๔.๔ เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของจำเลย ข้อ ๓.๒ ถึง ๓.๑๒ และ ๔.๒ ถึง ๔.๑๑ แต่โจทก์ที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้เงินสำรองค่าเดินทาง ๑๕,๐๐๐ บาท และเงินค่าสวัสดิการที่เบิกซ้ำ ๕๖๐.๗๔ บาท รวมเป็นเงิน ๑๕,๕๖๐.๗๔ บาท และโจทก์ที่ ๒ ต้องรับผิดชดใช้เงินสำรองค่าเดินทาง ๑๕,๐๐๐ บาท แก่จำเลย สัญญาค้ำ ประกันไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์จึงต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย จำเลยหักค่าจ้างของโจทก์ที่ ๑ ไว้ ๗.๐๒๕ บาท โดยไม่มีสิทธิ ทั้งจำเลยอนุมัติให้โจทก์ทั้งสองลาออกทันทีในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เป็นการให้ออกจากงานก่อนกำหนดในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าจ้างที่หักไว้และค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๗,๐๒๕ บาท โจทก์ที่ ๑ ก่อความเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน ๑๕,๕๖๐.๗๔ บาท จำเลยจึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำ ประกันการทำงานที่โจทก์ที่ ๑ มอบให้ไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าเสียหายจากโจทก์ที่ ๑ ไม่สามารถที่จะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ และจำเลยต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ก่อความเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วโจทก์ที่ ๒ ยังต้องรับผิดชำระเงินค่าเสียหายจำนวน ๔,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ที่ ๒ มีเงินประกันความเสียหายอยู่กับจำเลย ๑๒,๐๐๐ บาท เมื่อนำไปหักกับค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องคืนเงินประกันการทำงาน ๘,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แต่ศาลวินิจฉัยให้หักกลบลบหนี้กัน จึงกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นต้นไป
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องแย้งของจำเลยข้อ ๔.๔ ไม่เคลือบคลุมนั้น เมื่อ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตาม ฟ้องแย้ง ข้อ ๔.๒ ถึง ๔.๑๑ แก่จำเลยแล้ว เท่ากับว่าศาลแรงงานได้วินิจฉัยถึงความรับผิดของโจทก์ที่ ๒ ตามฟ้องแย้งของจำเลยข้อ ๔.๔ ด้วย แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้เงินสำรองค่าเดินทาง ๑๕,๐๐๐ บาท และเงินค่าสวัสดิการที่เบิกซ้ำ ๕๖๐.๗๔ บาท รวมเป็นเงิน ๑๕,๕๖๐.๗๔ บาท แก่จำเลย ส่วนจำเลยต้องชำระเงินค่าจ้างที่หักไว้โดยไม่มีสิทธิ ๗,๐๒๕ บาท และค่าเสียหายที่ให้โจทก์ที่ ๑ ออกจากงานก่อนกำหนดตามใบลาออก ๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๗,๐๒๕ บาท โดยโจทก์ที่ ๑ ก่อความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันธนาคารไว้ได้จนกว่าจะได้รับชำระเงินจากโจทก์ที่ ๑ ไม่สามารถนำมาหักกลบลบหนี้ได้ แล้วพิพากษาให้โจทก์ที่ ๑ ชำระเงินแก่จำเลย ๑๕,๕๖๐.๗๔ บาท หากโจทก์ที่ ๑ ชำระเงินดังกล่าวแล้วก็ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารแก่โจทก์ที่ ๑ โดยไม่กล่าวถึงเงินจำนวน ๑๗,๐๒๕ บาท ที่ได้วินิจฉัยไว้ว่าจำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ที่ ๑ นั้น ย่อมเป็นการไม่ถูกต้อง เมื่อได้ความว่าจำเลยต้องชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ เป็นจำนวนมากกว่าที่โจทก์ที่ ๑ ต้องชำระให้แก่จำเลย โดยเมื่อนำมาหักกลบลบหนี้กันแล้วคงเหลือเป็นจำนวนที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑,๔๖๔.๒๖ บาท จำเลยก็ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ ๑ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาซึ่งเป็นวันที่มีการหักกลบลบหนี้เป็นต้นไป ทั้งจำเลยไม่มีสิทธิยึดหนังสือค้ำประกันธนาคารที่โจทก์ที่ ๑ เคยมอบไว้ให้อีกต่อไป และโจทก์ร่วมในฐานะผู้ค้ำประกันการ ทำงานของโจทก์ที่ ๑ ก็ไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย ปัญหาในข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) และ ๒๔๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ร่วมต้องร่วมกับโจทก์ที่ ๑ รับผิดต่อจำเลยด้วยเนื่องจากหนังสือสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ล.๓/๒ สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้แม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์นั้น ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลย ให้จำเลยชำระเงิน ๑,๔๖๔.๒๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา (วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด