คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๓๑๐/๕๗
ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์แต่ตนเอง เรียกรับเงินจากลูกค้า ถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๐ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๙,๓๖๐ บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๙,๓๖๐ บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน ๒๘,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน ๑,๕๗๒,๔๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานขายของจำเลยเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้แสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับการขายรถยนต์ให้บริษัทเยทา จำกัด โดยโจทก์ได้เรียกเงินจากบริษัทเยทา จำกัด ๑๕,๐๐๐ บาท โดยให้จำเลย ๔,๐๐๐ บาท เป็นค่ามัดจำป้ายแดงซึ่งเป็นป้ายทะเบียนรถใหม่ก่อนการจดทะเบียน ส่วนที่เหลือ ๑๑,๐๐๐ บาท โจทก์ได้นำไปเป็นค่าจดทะเบียน ๓,๘๐๐ บาท คงเหลืออีก ๗,๒๐๐ บาท โจทก์จะต้องนำส่งคืนลูกค้า แต่โจทก์กลับไม่ส่งคืนเป็นเหตุให้บริษัทเยทา จำกัด ได้รับความเสียหายและได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ๙,๓๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว และค่าชดเชยแก่โจทก์ ๒๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง ( วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ที่โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าการจดทะเบียนรถยนต์ให้ลูกค้านั้น จำเลยจะดำเนินการให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจปกติของจำเลย แต่โจทก์ไปตกลงกับลูกค้าเพื่อรับดำเนินการเอง แล้วให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า บริษัทเยทา จำกัด ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ข้อหายักยอกทรัพย์ค่าดำเนินการทะเบียนรถยนต์และได้วินิจฉัยว่าบริษัทเยทา จำกัด มีความเชื่อถือว่าจะได้รับรถยนต์และทะเบียนรถยนต์ตามที่ต้องการ หากโจทก์ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าบริษัทเยทา จำกัด จะโอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีโจทก์ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีหน้าที่ดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลย ดำเนินการขายรถยนต์ให้แก่บริษัทเยทา จำกัด ในนามตัวแทนของจำเลย แต่กลับรับดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์ให้แก่บริษัทเยทา จำกัด โดยมิได้มีหน้าที่โดยตรงต้องกระทำเช่นนั้น แล้วอาศัยโอกาสจากการเป็นพนักงานขายของจำเลยเรียกให้บริษัทเยทา จำกัด โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ ๑๕,๐๐๐ บาท แล้วโจทก์นำส่งจำเลยเป็นค่ามัดจำป้ายทะเบียนรถยนต์ป้ายแดง ๔,๐๐๐ บาท และนำเงินส่วนหนึ่งจำ นวน ๓.๘๐๐ บาท เป็นค่าจดทะเบียนรถยนต์แล้วไม่นำเงินส่วนที่เหลืออีก ๗.๒๐๐ บาท คืนให้แก่บริษัทเยทา จำกัด เป็นเหตุให้ บริษัทเยทา จำกัด ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อดำเนินคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์แก่โจทก์ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประพฤติตนไม่ซื่อตรงหน้าที่เป็นการประพฤติที่คดโกงถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ วรรคหนึ่ง (๑) อันเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎ หมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด