คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๒๐๘/๕๗
ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา มาทำงานสายประจำ ถือว่า กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่เลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ต่อมาวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งที่ ๑๐๗/๒๕๕๑ ให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน ๑๐๗,๖๙๐ บาท แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างรวม ๖ ประการ ตามที่จำเลยที่ ๒ กล่าวหา แม้จะเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงแต่ก็เข้าข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ และเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๑๗ วรรคท้าย ในอันที่จำเลยที่ ๒ ไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าต่อโจทก์ก่อนที่จะมีหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ หน้าที่หัวหน้าแผนกสนับสนุนการตลาด ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๗,๑๑๕ บาท จ่ายทุกวันสิ้นเดือน โดยโจทก์จะต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๒ เมื่ออายุครบ ๕๕ ปี หากจำเลยที่ ๒ จะเลิกจ้างก่อนอายุครบกำหนดในลักษณะความผิดที่ไม่ร้ายแรง ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือซึ่งจำเลยที่ ๑ พิจารณาในเบื้องต้นแล้วได้ความว่า จำเลยที่ ๒ มีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดยได้ข้อเท็จจากนางสาวจารุณี ดิษเปีย มาให้ถ้อยคำต่อจำเลยที่ ๑ ว่า โจทก์ทำงานติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ จึงแจ้งการเลิกจ้างด้วยวาจาแก่โจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ต่อมาวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ โจทก์โทรศัพท์มาขอให้ออกหนังสือเลิกจ้าง โดยอ้างว่าจะนำไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม จึงออกหนังสือให้เป็นวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ แต่โจทก์ก็ยังมาทำงานตามปกติโดยความเข้าใจของโจทก์เอง จนวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ โจทก์จึงมารับหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้จำเลยที่ ๑ ไม่วินิจฉัยให้โจทก์ได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี ที่ ๑๐๗/๒๕๕๑ ของจำเลยที่ ๑ และมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๔,๒๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันบอกเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ บอกเลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ โดยให้มีผลในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๑ ต่อมาวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ โจทก์โทรศัพท์มาขอให้ออกหนังสือเลิกจ้างอ้างว่าจะนำไปขึ้นทะเบียนประกันสังคม จำเลยที่ ๒ จึงออกหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์มารับไปในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากโจทก์ได้กระทำผิดทางวินัยตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ เป็นอาจิณ จำเลยที่ ๒ จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี ที่ ๑๐๗/๒๕๕๑ ของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๗,๑๑๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอส่วนที่เกินกว่านี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองเดียวกันว่า โจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ กระทำผิดซ้ำคำเตือนบกพร่องในการทำ งาน และไปทำงานสาย ๑๙ ครั้งในระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคท้าย กำหนดว่า ในกรณีลูกจ้างตามสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลากระทำความผิดตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ นายจ้างย่อมเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ มีความแตกต่างกันกรณีที่การกระทำของลูกจ้างแม้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ แต่ก็อาจเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทำงานในหน้าที่หัวหน้าแผนกส่งเสริมการขายหรือหัวหน้าแผนกสนับสนุนการตลาด โจทก์กระทำผิดระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ดังนี้ ประการแรก เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๒ ย้ายห้องเพื่อจัดสำนักงานใหม่ จำเลยที่ ๒ สั่งโจทก์ย้ายโต๊ะทำงานและที่เก็บของโจทก์ โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแต่เดินไปที่แผนกอื่น ไม่สนใจคำสั่งผู้บังคับบัญชา และพูดว่า อยากจะย้ายก็ย้ายไป จะทำอะไรก็ทำเถอะ ในที่สุดผู้บังคับบัญชาต้องลามาช่วยย้ายโต๊ะทำงานและที่เก็บของให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นกรณีโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ ๒ ออกหนังสือเตือนโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบการเตือน ประการที่สอง ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โจทก์ไปทำงานสาย ๑๙ ครั้ง รวมเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ๕๔ นาที เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๓.๕ ประการที่สาม โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ในการออกแบบแผ่นพับโฆษณาสินค้าของจำเลยที่ ๒ และส่งไปพิมพ์ ประการที่สี่ จำเลยที่ ๒ ต้องไปจัดงานแสดงสินค้าในงานประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลที่เมืองพัทยา โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดแสดงสินค้ารวมทั้งประสานงานในเรื่องต่างๆ แต่โจทก์ไม่กระตือรือร้นในการทำหน้าที่ จนในที่สุดหัวหน้างานต้องทำหน้าที่แทนโจทก์เสียเอง จะเห็นได้ว่าการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งหมดดังกล่าว แม้ไม่ใช่ความผิดกรณีร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งของจำเลยที่ ๒ นายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยที่ ๒ จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด