คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๗๖/๕๗
ทะเลาะวิวาทเรื่องส่วนตัวไม่ส่งผลกระทบต่อการบังคับบัญชา บาดเจ็บเล็กน้อย ไม่เป็นความผิด กรณีร้ายแรง แต่ถือว่ากระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า / เลิกจ้างเป็นธรรมไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย แต่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๒ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานเย็บไลน์ แผนกฝ่ายผลิต ค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ ๓๓๓ บาท และค่าครองชีพเดือนละ ๙๐๐ บาท ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๖ และวันที่ ๒๑ ของเดือนต่อมาวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ใช้กิริยาวาจาไม่สุภาพ ก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคีในหมู่พนักงาน และไม่เชื่อฟังคำสั่งของหัวหน้าอันเป็นการผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งไม่เป็นความจริง และจำเลยเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมา ๑๐ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๓๐๐ วัน เป็นเงิน ๑๐๘,๙๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๑๐,๘๙๐ บาท ทั้งการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โดยได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ ๓๒๓ บาท โจทก์ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายนางสาวสมบัติ สุวรณราษฎร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในเวลาทำงานและในบริเวณโรงงานของจำเลย โจทก์ใช้กิริยาวาจาไม่สุภาพ ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีในหมู่พนักงาน อันเป็นการผิดวินัยร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๘,๙๐๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๖,๑๗๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ( ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก )
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๓๒ จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานเย็บไลน์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ ๓๓๓ บาท และค่าครองชีพเดือนละ ๙๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๖ และวันที่ ๒๑ ของเดือน ระหว่างทำงาน เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๖.๕๕ นาฬิกา โจทก์ได้เดินเข้าไปหานางสาวสมบัติ สุวรรณราษฎร พนักงานเย็บไลน์เดียวกันแล้วได้โต้เถียงกันเรื่องที่นางสาวสมบัติได้พูดเรื่องส่วนตัวของโจทก์บนรถรับส่งพนักงานระหว่างโต้เถียงกันโจทก์ได้ใช้มือจับและบีบปากของนางสาวสมบัติ นางสาวสมบัติได้ใช้มือปัดป้องแล้วโจทก์ได้ใช้มือขยุ้มหน้าของนางสาวสมบัติจนเกิดรอยแผลถลอกที่แก้มด้านซ้าย และรอยขีดข่วนยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร กว้างประมาณ ๓ มิลลิเมตร จำเลยจึงเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวดที่ ๙ ข้อ ๒.๖.๖ ซึ่งระบุว่า " ก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือใช้พวกข่มเหงรังแกอีกฝ่ายหนึ่ง " อันเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ต่อมาจำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๑ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายใดๆ แก่โจทก์ ซึ่งศาลแรงงานกลางเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงจึงให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่มีเหตุสมควรให้เลิกจ้างได้โดยไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์และจำเลยว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ทะเลาะทำร้ายร่างกายนางสาวสมบัติ สุวรรณราษฎร พนักงานเย็บไลน์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในแผนกเดียวกัน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ ๙ ข้อ ๒.๖.๖ จะได้ระบุให้เป็นความผิดวินัยกรณีที่ร้ายแรงก็ตามแต่การจะเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ มิใช่เพียงแต่พิจารณาจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเท่านั้น แต่ต้องฟังจากพฤติกรรมอื่นประกอบด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสาเหตุของการทะเลาะวิวาทมาจากการที่นางสาวสมบัติได้นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์พูดให้พนักงานอื่นฟังบนรถรับส่งพนักงาน การที่โจทก์ทำร้ายร่างกายนางสาวสมบัติก็เป็นเพียงการบาดเจ็บเล็กน้อยและได้กระทำก่อนเวลาปฏิบัติงานเช้า จากนั้นโจทก์ทำงานตามปกติ การกระทำของโจทก์ไม่มีผลต่อการบังคับบัญชาของจำเลยมากนัก จึงถือมิได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ และไม่เข้ากรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แต่การเลิกจ้างมีเหตุสมควรเพียงพอจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยทั้งหมดอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด