คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๓๐๕/๕๗
ขับรถเร็วเกินกว่าข้อบังคับกำหนด เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๘ จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถส่งแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๕,๗๑๕ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๕ และ ๓๐ ของเดือน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสือ อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรงเรื่องขับรถเร็วเกินกำหนดซึ่งไม่ เป็นความจริง โจทก์ไม่ได้ขับรถเร็วเกินกว่าที่กำหนด เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๔,๘๕๗.๖๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชย ๗๗,๑๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถ โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๗,๐๐๐ บาท ไม่ใช่เดือนละ ๒๕,๗๑๕ บาท ตามที่โจทก์อ้าง เนื่องจากโจทก์นำเงินค่าเที่ยวที่คิดจากการวิ่งตามระยะทางในอัตรากิโลเมตรละ ๐.๙๕ บาท มารวมไว้ด้วย นอกจากนี้โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงโดยขับรถบรรทุก ๑๘ ล้อ เกินอัตรา ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเวลานาน จำเลยถือว่าโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับในการทำงานอย่างร้ายแรงจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีหน้าที่ขับรถบรรทุกพ่วง ๑๘ ล้อ ขนส่งแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และขับรถเร็ว เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับอย่างร้ายแรง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีเหตุเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ นายจ้างจะยกข้อต่อสู้ในคำให้การว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เนื่องจากลูกจ้างได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงขึ้นในภายหลังไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา ๑๗ วรรคสามนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้กล่าวยอมรับว่า เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสือ แต่ตามคำฟ้องมิได้กล่าวต่อไปว่าหนังสือเลิกจ้างโจทก์มิได้ระบุเหตุที่เลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ ไว้แต่อย่างใดจึงเป็นข้อที่มิได้กล่าวกันมาโดยชอบในศาลแรงงานกลาง จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อมาว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าแก๊สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นแก๊สอันตรายไม่ชอบเพราะจำเลยไม่ได้นำสืบ และการที่โจทก์ขับรถเร็วเกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นเพียงฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวการทำงานของจำเลย เมื่อไม่ได้ระบุว่าร้ายแรงหรือไม่ไว้ ต้องฟังว่าไม่ร้ายแรงนั้น เห็นว่า โจทก์ทำหน้าที่พนักงานขับรถบรรทุกพ่วง ๑๘ ล้อ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นระเบียบที่กำหนดขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน แต่โจทก์กลับละเลยขับรถบรรทุกพ่วง ๑๘ ล้อ ด้วยความเร็วเกินกว่าข้อบังคับที่กำหนดไว้ซึ่งเกินกว่าอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ และมาตรา ๖๗ และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖ ( พ.ศ. ๒๕๒๒ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๑ ( ๒ ) อันมีโทษทางอาญา ดังนั้นถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เห็นว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด