คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๙๔๐/๕๗
ฝ่าฝืนคำสั่งโยกย้าย เลิกจ้างได้ ถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางสาวจิรดา จิตรทาน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ ๑ มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ ได้ จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ ๑ ขณะเลิกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นตัวแทนฝ่ายบริหารและผู้จัดการฝ่ายผลิต ประจำอยู่สำนักงานสาขาเลขที่ ๑๗๙ ซอยสุขุมวิท ๖๒/๑ ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๗,๖๒๐ บาท เป็นเงินเดือน ๒๙,๖๒๐ บาท ค่าน้ำมัน ๗,๐๐๐ บาท ค่าอินเตอร์เน็ต ๑,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๑๕ และวันสุดท้ายของเดือนโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยทั้งสามตามสัญญาจ้างแรงงานและตามคำสั่งของนายจ้างโดยถูกต้องและสุจริตไม่เคยกระทำผิดหรือมีความผิดใด เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยทั้งสามมีคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๑ เรื่องโยกย้ายพนักงานอ้างเหตุว่ามีนโยบายปิดทำการสาขาเลขที่ ๑๗๙ ดังกล่าวโอนย้ายโจทก์จากตำแหน่งเดิมไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้าของจำเลยที่ ๑ ประจำสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๕๒ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลโพนงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป โจทก์เห็นว่าการโอนย้ายตำแหน่งดังกล่าวเป็นการลดตำแหน่งและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยโจทก์ไม่ยินยอม ทั้งยังมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งมิให้โจทก์ทำงานต่อไป และจำเลยที่ ๑ มิได้ปิดสาขาจริง ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งความประสงค์ไม่ขอย้ายสถานที่ทำงานตามคำสั่งต่อมาในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยทั้งสามออกคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๑ เรื่องโยกย้ายพนักงานโดยอ้างเหตุตามคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๑ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ และในวันเดียวกันจำเลยทั้งสามได้ออกหนังสือเตือนอ้างว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ หลีกเลี่ยงขัดขืนคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๑ และคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๑ ต่อมาในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยทั้งสามมีคำสั่งที่ ๓/๒๕๕๑ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคงจะจ่ายให้เพียงค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยอ้างเหตุว่าการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งของจำเลยทั้งสามไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามหักค่าจ้างโจทก์เข้าโครงการกองทุนเงินสะสมในอัตราร้อยละหนึ่งของเงินเดือนและจำเลยทั้งสามจ่ายสมทบเท่ากับที่หักค่าจ้างโจทก์ไว้ เมื่อจำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องจ่ายเงินสะสมแก่โจทก์ ๒๓,๐๘๘ บาท จำเลยทั้งสามไม่ได้จัดให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีอีก ๑๔ วัน จำเลยทั้งสามต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๗,๕๕๖ บาท จำเลยทั้งสามต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๑๗,๕๕๖ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน ๓๗,๖๒๐ บาท ค่าชดเชย จำนวน ๓๐๐,๙๖๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำนวน ๒,๒๕๗,๒๐๐ บาท และเงินสะสมโครงการกองทุนเงินสะสม จำนวน ๒๓,๐๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เนื่องจากกิจการของจำเลยที่ ๑ เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมมีที่ทำการหลายแห่งรวมทั้งสำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท การผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรจึงเป็นการบริหารตามปกติของจำเลยที่ ๑ โจทก์ทราบเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งมีระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานเป็นอย่างดี การออกคำสั่งโยกย้ายโจทก์มิใช่การกลั่นแกล้งหรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์แต่ประการใด โจทก์เคยไปทำงานที่จังหวัดชัยนาทโดยได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและมีบ้านพักประจำตำแหน่ง เมื่อจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งโดยชอบแล้ว การที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้มีการตักเตือนแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามฟ้อง สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานและถูกเลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์แถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน ๑๗,๕๕๖ บาท ค่าชดเชย จำนวน ๓๐๐,๙๖๐ บาท และเงินสะสมโครงการกองทุนเงินสะสม จำนวน ๒๓,๐๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ โจทก์เข้าสมัครงานกับบริษัทซี. เอส. อินเตอร์เนชั่นแนล อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด และในวันเดียวกันบริษัทดังกล่าวและบริษัทเซฟ - ที - คัท (ประเทศไทย) จำกัด ตกลงว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในฝ่ายขายตำแหน่งเจ้าหน้าที่เซฟ- ที - คัท เซอร์วิส เซ็นเตอร์ โดยมีการทำสัญญาจ้างแรงงานและใบรายงานตัวพนักงานใหม่เอกสารหมาย ล.๓ และ ล.๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๒ บริษัทเซฟ - ที - คัท (ประเทศไทย) จำกัด มีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ให้มาทำงานกับจำเลยที่ ๑ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตและขายตามคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๒ เอกสารหมาย ล.๕ และเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งตัวแทนฝ่ายบริหาร (QRM) ตามประกาศเอกสารหมาย ล.๖ จำเลยที่ ๑ มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.๗ ขณะที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่เลขที่ ๑๗๙ ซอยสุขุมวิท ๖๒/๑ ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.๑๓ เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนฝ่ายบริหารและผู้จัดการฝ่ายผลิตประจำสำนักงานเลขที่ ๕๒ หมู่ ๑๒ ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑ ตามคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๑ เอกสารหมาย จ.๒ ภายหลังได้รับเอกสารดังกล่าวโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ไม่ขอย้ายสถานที่ทำงานตามเอกสารหมาย จ.๓ จากนั้นในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งให้โจทก์ไปปฏิบัติงานที่สำนักงานจังหวัดชัยนาทอีกครั้งตามคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๑ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ ตามเอกสารหมาย จ.๔ และในวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ ได้ออกหนังสือตักเตือนกล่าวหาว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ ที่ชอบด้วยกฎหมายตามเอกสารหมาย จ.๕ ต่อมาในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งที่ ๓/๒๕๕๑ เอกสารหมาย จ.๖ แล้ววินิจฉัยว่าการจ้างงานโดยทั่วไปแล้วนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารจัดการองค์กรรวมทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ การจัดเรียงบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน ตลอดจนการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ของบุคลากรจึงเป็นเรื่องที่นายจ้างสามารถกระทำได้ แต่ทั้งนี้ การออกคำสั่งเพื่อโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ของบุคลากรนั้นต้องไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งสภาพการจ้างของลูกจ้างให้ลดน้อยลง และต้องเป็นไปโดยสุจริตไม่มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง การโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การทำงานของโจทก์จากเดิมที่เคยดำรงตำแหน่งตัวแทนฝ่ายบริหารและผู้จัดการฝ่ายการตลาดมาดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวางแผนและคลังสินค้าถือเป็นฝ่ายบริหารเช่นเดียวกัน ทั้งมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะต้องควบคุมรับผิดชอบเช่นกัน กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ลดตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ และตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย ล.๗ กำหนดให้พนักงานมีวันทำงานสัปดาห์ละ ๖ วัน คือ วันจันทร์ถึงวันเสาร์ การที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ ๑ ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตลอดมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างให้ประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างโดยให้ทำงานน้อยกว่าวันทำงานที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.๗ การที่จำเลยที่ ๑ จะโอนย้ายโจทก์ไปทำงานโดยให้โจทก์ทำงานในวันเสาร์อีกวันหนึ่งด้วยเพื่อให้เต็มตามสภาพการจ้างที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานย่อมกระทำได้ โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมใดๆ จากโจทก์ อีกทั้งการโอนย้ายโจทก์ได้รับค่าจ้าง หรือสวัสดิการหรือตำแหน่งงานไม่ต่ำกว่าเดิม กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าการออกคำสั่ง โอนย้ายโจทก์ของจำเลยที่ ๑ ทำให้สภาพการจ้างของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปหรือเกิดจากการกลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยนำเหตุที่โจทก์ขัดคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑/๒๕๕๑ และที่ ๒/๒๕๕๑ มาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างแต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ตักเตือนโจทก์เนื่องจากโจทก์ขัดคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๑ ไปแล้ว จึงเป็นการลงโทษทางวินัยเพราะการกระทำนั้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่อาจนำเหตุที่โจทก์ขัดคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๑ มาลงโทษโจทก์โดยการเลิกจ้างอีกได้ การที่จำเลยที่ ๑ จะนำเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๑ มาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้ ก็ต้องเกิดจากการที่โจทก์ไม่ไปทำงานที่จังหวัดชัยนาทเมื่อพ้นวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ ไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ จึงยังไม่พ้นระยะเวลาที่จำเลยที่ ๑ กำหนดไว้ในคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๑ ตามเอกสารหมาย จ.๔ กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์กระทำความผิดโดยฝ่าฝืนคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ จะนำมาเป็นเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างโจทก์ได้ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑/๒๕๕๑ ที่โอนย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้าประจำสำนักงานใหญ่จังหวัดชัยนาทอันเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม โจทก์เป็นถึงพนักงานฝ่ายบริหารของจำเลยที่ ๑ แต่กลับไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น จำเลยที่ ๑ จึงเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยที่ ๑ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยที่ ๑ โยกย้ายโจทก์ไปทำงานที่จังหวัดชัยนาทเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เนื่องจากทำให้โจทก์ต้องทำงานในวันเสาร์เพิ่มอีก ๑ วัน ในแต่ละสัปดาห์ ทั้งเป็นการเพิ่มภาระด้านเวลาในการเดินทางและค่าใช้จ่าย อีกทั้งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.๗ ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนย้ายโจทก์ไปทำงานยังสถานที่อื่นได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเมื่อจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยโยกย้ายโจทก์ไปทำงานที่จังหวัดชัยนาทนั้น เป็นการย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้าซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับเดียวกัน แม้โจทก์จะต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานจากกรุงเทพมหานครไปทำงานที่จังหวัดชัยนาทและต้องทำงานเพิ่มในวันเสาร์เป็นหกวันทำงาน แตกต่างจากตำแหน่งเดิมของโจทก์ที่ทำงานเพียงห้าวันทำงานก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.๗ ซึ่งกำหนดให้โจทก์ต้องทำงานสัปดาห์ละหกวันทำงาน และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างมีอำนาจโอนย้ายโจทก์ไปทำงานในสถานที่ทำงานอื่นได้ ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.๓ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีอำนาจโยกย้ายโจทก์ไปทำงานที่สำนักงานใหญ่จังหวัดชัยนาทได้โดยไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโยกย้ายของจำเลยจึงเป็นการขัดคำสั่งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายถือเป็นการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรแล้วไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินสะสมแก่โจทก์หรือไม่โดยจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ในทำนองว่าการที่โจทก์ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโยกย้ายของจำเลยที่ ๑ ทำให้การบริหารกิจการของจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ การขัดคำสั่งของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ เป็นกรณีร้ายแรงนั้น เห็นว่า แม้นายจ้างจะมีอำนาจบริหารที่จะแต่งตั้งโยกย้ายลูกจ้างให้ทำงานเหมาะสมกับกิจการของนายจ้างได้และการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างจะเป็นความผิดของลูกจ้างก็ตาม แต่การฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของพฤติการณ์แห่งคดีแต่ละกรณีไปเมื่อคดีนี้จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งย้ายโจทก์เพื่อไปดูแลคลังสินค้าซึ่งไม่มีผู้บริหารไปวางแผนดูแลแต่การโอนย้ายเป็นการย้ายจากกรุงเทพมหา นครไปยังจังหวัดชัยนาท ทั้งเหตุการณ์โอนย้ายก็ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนเนื่องจากจำเลยได้ให้เวลาโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ จึงเลิกจ้างโจทก์ จึงแสดงว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ มิใช่กรณีเร่งด่วนและจำเป็น การที่โจทก์ปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่การฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างในกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินสะสมนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด