คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๘๑/๕๗
เงินค่าตอบแทนพิเศษกับเงินโบนัส มีเงื่อนไขต่างกัน หลักเกณฑ์การจ่ายต่างกัน จึงต้องพิจารณาต่างกัน
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๒ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๙๐,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ลาออกเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ระหว่างทำงานจำเลยมีข้อตกลงการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษคือถ้าผลกำไรทั้งหมดของจำเลยในปี ๒๕๔๗ เกิน ๑๐๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกิน ๑๐๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท จะแบ่งให้แก่พนักงาน ๑๕ คน ซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย เป็นจำนวนเงินสูงสุดไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๔๗ จำเลยมีผลกำไรเป็นไปตามข้อตกลง และจำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ในอัตราสูงสุด ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อปี ๒๕๔๗ จำเลยมีข้อตกลงที่จะจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่พนักงานในส่วนของการดำเนินงานเกี่ยวกับการขายว่าหากจำเลยมีผลกำไรจากการขายทั้งหมดเกิน ๑๐๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เกินกว่า ๑๐๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท จะแบ่งให้แก่ทีมงานที่มีส่วนทำให้เกิดผลกำไรจากการดำเนินงานเกี่ยวกับการขาย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รบค่าตอบแทนพิเศษของปี ๒๕๔๗ เพราะผลกำไรของจำเลย ในส่วนที่จำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่โจทก์ไม่ถึง ๑๐๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และพนักงานที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษจะต้องเป็นพนักงานซึ่งยังคงสถานภาพการเป็นพนักงานของจำเลยและยังมาปฏิบัติงานให้จำเลยจนถึงวันจ่ายเงินนั้น แต่โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยด้วยการลาออกก่อน โดยโจทก์มาปฏิบัติงานให้จำเลยวันสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ในขณะที่จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษของปี ๒๕๔๗ ให้แก่พนักงานเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ นอกจากนี้จำเลยยังได้จ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่โจทก์จำนวน ๘๑๐,๐๐๐ บาทแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คู่ความไม่ได้โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสารหมาย จ.๑ ถึง จ.๕ และ ล.๑ ถึง ล.๖ ข้อเท็จจริงยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๒ ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เมื่อปี ๒๕๔๗ จำเลยมีข้อตกลงการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษตามเอกสารหมาย จ.๑ โดยกำหนดว่ากำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นของเดอะพิซซ่าคอมปะนี ที่เกิน ๑๐๔ ล้านบาท จะแบ่งให้แก่ ๑๕ คน ตามรายชื่อซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยเป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง ๑ ล้านบาท ต่อคนหรืออีกนัยหนึ่งถ้าทำกำไรได้ ๑๑๙ ล้านบาท ทุกคนจะได้รับคนละ ๑ ล้านบาท จำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๘ ตามเอกสารหมาย จ. ๕ โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๘ ตามใบลาออกเอกสารหมาย ล.๑ ปี ๒๕๔๗ จำเลยมีกำไรสุทธิ ๓๗๒,๔๒๖,๗๐๕ บาท ตามงบกำไรขาดทุนเอกสารหมาย จ.๒ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ในปี ๒๕๔๗ จำเลยมีกำไรเกินกว่า ๑๐๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นไปตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.๑ แล้วจำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษแก่โจทก์
คดีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าการที่โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษจะทำให้โจทก์ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้มีสิทธิรับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามเอกสารหมาย จ.๑ หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การจ่ายโบนัสทุกประเภทของจำเลยจะมีหลักเกณฑ์เหมือนกันหมดกล่าวคือลูกจ้างจะต้องยังคงสถานภาพเป็นพนักงานของจำเลยและยังมาปฏิบัติงานจนถึงวันที่จ่ายโบนัส ส่วนเอกสารหมาย ล.๒ เป็นเพียงตัวอย่างการจ่ายโบนัสรายเดือนซึ่งได้มีประกาศเป็นเอกสารไว้ด้วยเท่านั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.๒ เป็นกรณีจำเลยจ่ายโบนัสรายเดือนในอัตราร้อยละ ๘.๓๓ ของเงินเดือนมูลฐาน ให้แก่พนักงานที่มีคุณสมบัติยังคงสถานภาพเป็นพนักงานของจำเลยและยังมาปฏิบัติงานกับจำเลยจนถึงวันจ่าย แต่ตามเอกสารหมาย จ.๑ ระบุว่าเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษ โดยจ่ายจากกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นของเดอะพิซซ่าคอมปะนีที่เกิน ๑๐๔ ล้านบาท และจ่ายให้เฉพาะบุคคลตามที่ระบุไว้เพียง ๑๕ คน มิได้ระบุเกี่ยวกับผลตอบแทนอัตราร้อยละ ๘.๓๓ แต่อย่างใด จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานที่มีสิทธิได้รับ INCENTIVE BONUS เอกสารหมาย ล.๒ มาใช้บังคับแก่การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ลูกจ้างตามเอกสารหมาย จ.๑ ได้ ดังนั้นแม้โจทก์จะลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนที่จะถึงกำหนดจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษก็ไม่ทำให้โจทก์ขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามเอกสารหมาย จ.๑ แต่อย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามเอกสารหมาย จ.๑ หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๑ ในส่วนของผลกำไร ๑๐๔ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๗ หมายถึงผลกำไรจากยอดขายผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้ชื่อเดอะพิซซ่าคอมปะนีของจำเลย ไม่ใช่ผลกำไรทั้งหมดของจำเลยปี ๒๕๔๗ จำเลยมีผลกำไรจากยอดขายผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้ชื่อเดอะพิซซ่าคอมปะนีเพียง ๘๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พนักงานที่มีชื่อในเอกสารหมาย จ.๑ จึงไม่มีสิทธิรับเงินค่าตอบแทนพิเศษนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อตกลงจ่ายค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานรวมทั้งโจทก์เอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งระบุว่า "ขอขอบคุณทุกคนสำหรับผลงานเดอะพิซซ่าคอมปะนี ในช่วง ๖ อาทิตย์แรก ของปี พ.ศ. ๒๕๔๗ (ค.ศ. ๒๐๐๔) ดีเกินคาดหมายเราทุกคนทราบดีว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายแต่มันก็ไม่ได้โดยง่าย ... ดังนั้นการที่จะทำให้ทุกคนมีจุดหมายที่ต้องการเดียวกัน ทางบริษัทฯ (จำเลย) จึงได้มีข้อเสนอเป็นเงินค่าตอบแทนพิเศษสำหรับหัวหน้าฝ่ายตามรายละเอียดดังต่อไปนี้ กำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นของเดอะพิซซ่าคอมปะนีที่เกิน ๑๐๔ ล้านบาท จะแบ่งให้กับ ๑๕ คน ตามรายชื่อข้างล่าง (รวมทั้งโจทก์) ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง ๑ ล้านบาท ต่อคน อีกนัยหนึ่งถ้าเราทำกำไรได้ ๑๑๙ ล้านบาท คุณทุกคน (รวมทั้งโจทก์) จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษคนละ ๑ ล้านบาท ... ทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือเท่าๆ กัน ใครก็ตามที่ถูกประเมินผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน จะขาดคุณสมบัติดังกล่าว" ประกอบกับได้ความจากงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะบริษัทของจำเลยเอกสารหมาย จ.๒ ว่า จำเลยดำเนินธุรกิจในรูปกลุ่มบริษัท โดยมีบริษัทย่อยเช่นบริษัทสเวนเซ่นส์ (ไทย) จำกัด บริษัทซิซซ์เลอร์ ไทย จำกัด บริษัทอาร์. จี. อาร์. ฟู้ดเซอร์วิส จำกัด บริษัทเดอะพิซซ่าเรสตัวรองท์ส จำกัด และบริษัทร่วมเช่นบริษัทซีเลค เซอร์วิสพาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัทเอสแอนด์พี ไมเนอร์ฟู้ด จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหลากหลายและแตกต่างกัน ทั้งจากหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.๖ ก็ปรากฏว่าเดิมจำเลยใช้ชื่อบริษัทเดอะพิซซ่าคอมปะนี (ไทย) จำกัด ต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเดอะพิซซ่า จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๖ ครั้งสุดท้ายเปลี่ยนชื่อเป็นจำเลยเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ จึงแสดงให้ว่าจำเลยเปลี่ยนชื่อโดยไม่มีคำว่า "เดอะพิซซ่า" อยู่ในชื่อของจำเลยมาตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ ก่อนที่จะจัดทำข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๑ เป็นเวลานานดังนั้นการที่ข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๑ ปรากฏตราสัญลักษณ์เดอะพิซซ่าคอมปะนี (THE PIZZA COMPANY) อยู่ที่ด้านบนของข้อความ ทั้งข้อความที่ตกลงกันก็ปรากฏชัดว่า โจทก์จะได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษต่อเมื่อผลกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นของเดอะพิซซ่าคอมปะนีเกินกว่า ๑๐๔ ล้านบาท จึงเป็นกรณีที่จำเลยประสงค์จะจูงใจให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ดำเนินการเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สินค้าภายใต้ชื่อเดอะพิซซ่าคอมปะนีมีผลกำไรที่สูงขึ้นและแสดงให้เห็นถึงความต้องการนำผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงานเฉพาะในส่วนของเดอะพิซซ่าคอมปะนีมาใช้เป็นฐานคำนวณเงินค่าตอบแทนพิเศษตามข้อตกลง โจทก์จึงสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษเมื่อผลกำไรเฉพาะในส่วนของเดอะพิซซ่าคอมปะนี เกินกว่า ๑๐๔ ล้านบาท เท่านั้น แม้ในงบกำไรขาดทุนเอกสารหมาย จ.๒ จะปรากฏว่าจำเลยมีผลกำไรสุทธิในปี ๒๕๔๗ เป็นเงิน ๓๗๒,๔๒๖,๗๐๕ บาท ซึ่งเกินกว่า ๑๐๔ ล้านบาทและ ๑๑๙ ล้านบาท ก็ตาม แต่กำไรสุทธิของจำเลยดังกล่าวได้มาจากหลายส่วนประกอบกันอันได้แก่รายได้จากการขาย ดอกเบี้ยรับ รายได้จากการขายสิทธิแฟรนไชส์ รายได้อื่น ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียหักด้วยค่าใช้จ่ายและภาษีเงินได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายได้ที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิของจำเลยในบางส่วนเช่นดอกเบี้ยรับ รายได้อื่น ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานหรือเกี่ยวข้องกับการทำงานในหน้าที่ของโจทก์โดยตรง ทั้งผลกำไรจำนวนดังกล่าวมิได้เกิดจากผลิตภัฑณ์สินค้าภายใต้ชื่อเดอะพิซซ่าคอมปะนีเท่านั้น แต่เกิดจากรายได้ในส่วนอื่นนอกเหนือจากการดำเนินงานของเดอะพิซซ่าคอมปะนีด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามงบกำไรขาดทุนเอกสารหมาย จ.๒ ปรากฏกำไรสุทธิของจำเลยในปี ๒๕๔๖ เป็นเงินจำนวน ๑๕๙,๑๖๔,๔๕๙ บาท ซึ่งมากกว่า ๑๐๔ ล้านบาท และ ๑๑๙ ล้านบาท อยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่จำเลยจะยินยอมตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานรวมทั้งโจทก์ในปี ๒๕๔๗ โดยกำหนดผลกำไรที่ได้รับในจำนวนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และหากจำเลยตกลงจ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานโดยคิดจากผลกำไรสุทธิซึ่งรวมรายได้อื่นตามเอกสารหมาย จ.๒ จริง นายถานิตย์ จำรัสชัย (THANIS JAMRASCHAI) ซึ่งเป็นพนักงาน ๑ ใน ๑๕ คน ก็ย่อมจะต้องได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษเป็นจำนวน ๑ ล้านบาท แต่ตามเอกสารหมาย จ.๕ ปรากฏว่าจำเลยจ่ายเงินให้แก่นายถานิตย์เพียงจำนวน ๕๐๙,๖๒๑.๑๕ บาท ซึ่งไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๑ กรณีจึงไม่อาจแปลความข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.๑ ได้ว่าจำเลยจะจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่โจทก์โดยใช้ผลกำไรทั้งหมดของจำเลยเป็นฐานในการพิจารณา ดังนั้นเมื่อตามเอกสารหมาย ล.๓ ปรากฏผลกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้นของเดอะพิซซ่าคอมปะนี ในปี ๒๕๔๗ มีจำนวนเพียง ๘๒,๐๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งน้อยกว่า ๑๐๔ ล้านบาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษตามข้อตกลงเอกสารหมาย จ.๑ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
เรียบเรียงโดย บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด