ReadyPlanet.com


ขอถามเรื่อง พรบ. คุ้มครองแรงงาน ม.64


รบกวนปรึกษาด้วยค่ะ

 1 ช่วยอธิบาย  พรบ คุ้มครองแรงงาน ในมาตรา 64 ที่ประกาศไว้ว่า  "ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (2) (3) (4) (5)  (6) (7) หรือ (8) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ"

2. ถ้าบริษัททำธุรกิจขายสินค้าและมีการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าทุกวัน การทำงานของพนักงานส่งของ จะถือว่าเป็น งานตามข้อ (6)  "งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้" ได้หรือไม่คะ

3. และถ้าเข้าตามข้อ 6 การจ่ายค่าล่วงเวลาจะต้องทำยังไง และถ้าไม่เข้าตามลักษณะนี้ จะมีวิธีการคิดค่าล่วงเวลาอย่างไรคะ ( ยกตัออย่างมาให้ ช่วยคิดค่าล่วงเวลาให้ด้วยค่ะ ว่าจะได้เท่าไหร่ )  ถ้าบริษัทให้นาย ง ไปส่งของ ออกจากโรงงานตั้งแต่เวลา 9.00 กลับมาถึงโรงงานเวลา 20.00  (นาย ง ได้ค่าแรงวันละ 240 บาท )

ขอบคุณมากค่ะ

 

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ นู๋อยากรู้ โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2010-06-21 12:28:52 IP : 203.156.92.83


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3208809)

 

สวัสดีครับ คุณนู๋อยากรู้
 
                กรณีตามกระทู้ที่ถาม น่าจะเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑  มาตรา ๖๕ ไม่ใช่มาตรา ๖๔  และปัจจุบันแก้ไขใหม่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ ฉบับแก้ไข พ.ศ.๒๕๕๑   กำหนดไว้ว่า
                “มาตรา ๖๕ ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา ๖๑
และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา ๖๓ แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) หรือ (๙) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
(๑) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง
(๒) งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง
(๓) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ
(๔) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ
(๕) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ
(๖) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ
(๗) งานที่มีลักษณะหรือสภาพต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
(๘) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานปกติของลูกจ้าง
(๙) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง”
 
              ตามกระทู้ข้อ (๑)   ตามมาตรา ๖๕   ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลาตามมาตรา ๖๑ และค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ตามมาตรา ๖๓ มีสองลักษณะ คือ 
(๑) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือการเลิกจ้าง ซึ่งพิจารณาได้ตามองค์ประกอบคือ มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนนายจ้าง ไม่ว่าจะตามตำแหน่งหน้าที่ หรือได้รับมอบหมายหรือได้รับมอบอำนาจก็ตาม    มีอำนาจให้คุณให้โทษลูกจ้างได้สำหรับกรณีการจ้างงาน   การให้บำเหน็จหรือการเลิกจ้าง  
 อำนาจในการจ้างงาน ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือระดับผู้จัดการที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติจ้างงาน   
                         อำนาจให้คุณให้โทษ การให้บำเหน็จ เช่น การประเมินผลการงาน พิจารณาเลื่อนขั้น ปรับค่าจ้าง เป็นทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะเป็นระดับผู้จัดการขึ้นไป 
             อำนาจให้คุณให้โทษสำหรับการเลิกจ้าง คือ ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อ หรือกระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการยกเลิกสัญญาจ้างหรือเลิกจ้างพนักงานได้
 (๒)งานเร่ขายหรือชักชวนซื้อสินค้าซึ่งนายจ้างได้จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าให้แก่ลูกจ้าง 
หลัก ๆ ก็หมายถึงพนักงานขายนั่นเอง ซึ่งลักษณะงานเป็นงานที่ต้องทำภายนอกสถานที่และไม่สามารถกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดทำงานได้ 
              พนักงานทั้งสองประเภทนี้   ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด  
 
              แต่หากเป็นงานตามข้อ (๓) ถึง (๙) ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานล่วงเวลา   และค่าทำงานในวันหยุด เช่นกัน   แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ในอัตราเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
 
             ตามกระทู้ข้อที่ (๒)   พรบ.ฉบับแก้ไขปัจจุบัน   เป็นมาตรา ๖๕(๗) ครับ  
 ต้องถามต่อว่า   บริษัท ทำธุรกิจทั่วไป   ขายสินค้า   ไม่ใช่ธุรกิจขนส่ง หรือรับขนถ่ายสินค้าใช่หรือไม่ และลูกจ้าง พนักงานขนส่ง ไม่ได้ส่งของอย่างเดียว วันไหนไม่ได้ส่งสินค้า ต้องเข้าทำงานตามปกติ ตามเวลาทำงานปกติของบริษัท (เช่น เข้างาน ๐๘.๐๐ เลิกงาน ๑๗.๐๐) ใช่หรือไม่    ในการส่งสินค้าเป็นไปตามคำสั่งของนายจ้างใช่หรือไม่    
 หากเป็นไปในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการทำงานในธุรกิจปกติของนายจ้าง   และนายจ้างสามารถกำหนดระยะเวลาทำงานปกติได้   การไปทำงานนอกสถานที่หรือส่งสินค้า เป็นการออกไปทำงานตามคำสั่งเป็นครั้งคราว แต่กรณีนี้อาจจะไปบ่อยหรือเป็นประจำ   ก็ไม่ใช่กรณีตามมาตรา ๖๕ (๗)   ที่จะถือว่านายจ้างไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้ 
 เมื่อไม่เข้ากรณีตามมาตรา ๖๕ (๗) จึงถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติตามมาตรา ๖๑หรือทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา ๖๓ แล้วแต่กรณี
 
 ตามกระทู้ข้อ (๓) ต้องดูเวลาทำงานปกติ เข้างานกี่โมง เลิกงานกี่โมง หากเป็น เข้างาน ๐๘.๐๐ เลิกงาน ๑๗.๐๐ น. ส่งสินค้ากลับเข้าบริษัท ๒๐.๐๐ น. แสดงว่าทำงานล่วงเวลาไป ๓ ชั่วโมง ( ลักษณะงานต้องส่งสินค้าต่อเนื่องจนกลับเข้าบริษัท ซึ่งอาจติดขัดปัญหาจราจร และการเดินทาง จึงไม่อาจกำหนดเวลาพักตาม กฎหมายได้ จึงถือว่าพนักงานทำงานต่อเนื่อง)   คำนวณเป็นตัวอย่างให้ ๒ กรณี คือ
 กรณีตามกระทู้ ( ธุรกิจปกติทั่วไป ) มิใช่งานขนส่ง หรืองานตาม มาตรา ๖๕ (๗)คำนวณได้คือ ค่าจ้าง ๒๔๐ บาท ทำงานล่วงเวลา ๓ ชั่งโมง   ๒๔๐ หาร ๘ x ๑.๕ x ๓ =  ๑๓๕ บาท
 กรณีหากเป็นงานรับขน หรืองานขนส่งทางบก หรืองานตาม มาตรา ๖๕ (๓) ถึง (๙) คำนวณได้คือ ค่าจ้าง ๒๔๐ บาท ทำงานล่วงเวลา ๓ ชั่งโมง   ๒๔๐ หาร ๘ x ๑.๐ x ๓ = ๙๐ บาท
ผู้แสดงความคิดเห็น ไสว วันที่ตอบ 2010-06-22 09:23:26 IP : 61.90.74.36


ความคิดเห็นที่ 2 (3208848)

ขอบคุณมากค่ะ และขอถามเพิ่มนะคะ

1. บริษัทจำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับของบริษัทสำหรับแจกพนักงานหรือเปล่าคะ ถ้าจำเป็นต้องมี เราจะติดประกาศแจ้งพนักงาน และเรียกพนักงานคุย และให้ลงชื่อรับทราบกฎระเบียบได้หรือหรือไม่คะ (โดยที่ไม่ต้องแจกเอกสาร) /ก่อนหน้านี้บริษัทยังไม่เคยมีการจัดทำระเบียบข้องบังคับมาก่อน

2.ถ้าบริษัทมีทำงานในวันหยุด แต่ไม่ได้เริ่มงาน 8.00 ตามเวลาทำงานปกติ (เวลาทำงานปกติ คือ 8.00 - 17.00 ) สมมุติว่าถ้าให้นาย จ ทำงานในวันหยุด เริ่มงานเวลา 14.00 - 20.00 ค่าแรงวันละ 240 บาท  จะคิดค่าแรง แบบนี้ คือ 240/8 = 30 x 2 เท่า x 3 ชั่วโมง  = 180 + ค่าล่วงเวลาในวันหยุด 240/8 = 30 x 3 เท่า x 3 ชั่วโมง = 270 รวมแล้วได้ค่าแรง 450 บาท ถูกหรือไม่คะ 

ขอบคุณค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น นู๋อยากรู้ วันที่ตอบ 2010-06-22 10:40:21 IP : 203.156.92.83


ความคิดเห็นที่ 3 (3208959)

๑) นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป  กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน     ให้นายจ้างเผยแพร่และติดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยเปิดเผย ณ.สถานที่ทำงานของลูกจ้าง  เพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้โดยสะดวก   ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน  ฯ มาตรา  ๑๐๘

         การเผยแพร่อาจทำได้หลายวิธีเช่น  จัดอบรม   อมรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่   แจกสำเนาเอกสาร  ส่งผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น

ดังนั้นการเผยแพร่จึงไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องแจกสำเนาเอกสาร   แต่ถือว่าการแจกสำเนาและลงชื่อรับทราบ  เป็นวิธีการที่ดี   และพนักงานจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่รับทราบข้อบังคับ ฯ

       ประการสำคัญ  คือ ต้องติดประกาศให้พนักงานได้อ่านโดยสะดวก  ตามที่กฎหมายกำหนด

 

๒)  คำนวณถูกต้องแล้วครับ  เพราะถือว่า  เวลาทำงานปกติคือ ๐๘.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. นายจ้างจะให้มาทำงานกี่โมงก็ตามตกลง

แต่เมื่อคำนวณค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา   ต้องดูเวลาทำงานปกติ และเวลาที่พนักงานทำงานจริง  โดยคำนวณตามที่กฎหมายกำหนด

และตามความเป็นจริง

ผู้แสดงความคิดเห็น sw วันที่ตอบ 2010-06-22 12:41:39 IP : 61.90.74.36


ความคิดเห็นที่ 4 (3209028)

 

ขอบคุณมากๆ ค่ะ

นู๋อยากรู้

ผู้แสดงความคิดเห็น นู๋อยากรู้ วันที่ตอบ 2010-06-22 14:36:18 IP : 203.156.92.83


ความคิดเห็นที่ 5 (3254997)

 

สวัสดีค่ะกนุมีคำถามอยากจะถามนะค่ะ..

คือหนูทำงานที่สหกรณืในจังหวัดหนึ่งหนูทำงานตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. แบบนี้ผิดไหมค่ะ ช่วงเวลาทำงานก้อไม่มีเวลาพักทานข้าวเค้าบอกว่าจ่ายให้หนูเป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท เค้าบอกว่าเวลาพักในตัว แล้วแบบนี้หนูทำงานเกินเวลาเปล่าค่ะแล้วอาทิตย์นึงต้องมีวันหยุด 1 วันใช่เปล่าค่ะ แต่หนูไม่มีค่ะ แล้วก้อไม่ได้ค่าแรงเพิ่มด้วยค่ะทำงานเต็มเดือน ปกติแล้ว 1 อาทิตย์ต้องมัวันหยุดใช่เปล่าค่ะ แต่ถ้าไม่หยุดเราต้องได้ค่าแรงเพิ่มใช่ป่ะค่ะ

...ช่วยตอบหนูทีค่ะ

....ขอบคุณล่วงหน้านะค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น จากคนเหนื่อยมากค่ะ วันที่ตอบ 2010-10-12 20:07:52 IP : 182.232.141.30



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.