คำถาม
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดไว้เรื่องการลาออกว่า พนักงานที่ต้องการแจ้งความประสงค์ขอลาออก ต้องเขียนใบลาออกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน พนักงานลาออกไม่ครบ ๓๐ วัน หรือยื่นใบลาออกแล้วออกทันที ไม่อนุมัติได้หรือไม่ มีผลอย่างไร
ตอบ
การลาออก ตามความหมาย คือ การแจ้งความประสงค์ บอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา ๑๗ ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปก็ได้ แต่ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
พนักงานแจ้งความประสงค์ลาออก หมายถึงพนักงานเป็นฝ่ายแจ้งความประสงค์บอกเลิกสัญญาจ้างเอง ซึ่งพนักงานสามารถทำได้ แต่เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง กำหนดหลักเกณฑ์การลาออกไว้ว่าต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ดังกล่าว และข้อตกลงดังกล่าวเป็นตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่าข้อบังคับ ฯ ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดดังกล่าว ถือว่าผิดต่อสัญญาจ้าง ผิดข้อตกลงต่อนายจ้าง และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจึงมีสิทธิ์อนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ลาออกได้ ถือว่าการลาออกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลก็คือเมื่อพนักงานหยุดงานไปเลย ถือว่าเป็นการหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการขาดงานละทิ้งหน้าที่ไป ( พิจารณาผลตามหลักกฎหมายนะครับ )
แต่ในทางปฏิบัติ พนักงานมักจะไม่รอผลการอนุมัติ และจะหยุดงานไปทันที
ปัญหา คือนายจ้างจะดำเนินการอย่างไร
ถ้าเจอกรณีดังกล่าว นายจ้างคงต้องพิจารณา ครับว่า จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด หรือ ปล่อยพนักงานลาออกไปตามที่ขอลาออก เพราะการอนุมัติหรือไม่อนุมัติ จะมีผลทางกฎหมายต่อไป คือจะเลิกจ้างหรืออนุมัติให้ลาออก แต่หากการลาออกมีผลกระทบต่อการทำงาน นายจ้างได้รับความเสียหาย อาจพิจารณาเรียกร้องประเด็นเรื่องความเสียหายได้
สิทธิหน้าที่ และความเสียหาย กรณีลาออกผิดระเบียบ ไว้อธิบายในหัวข้อต่อไปนะครับ เรื่อง ลาออกผิดระเบียบ เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่