ReadyPlanet.com


พนักงานชั่วคราว/สัญญาจ้าง


สวัสดีค่ะ ขอเรียนสอบถามดังนี้ค่ะ

1. ปัจจุบัน ตำแหน่งแม่บ้านและพนักงานรับส่งเอกสาร บริษัทถือว่าเป็นพนักงานบริษัท มีการให้สวัสดิการต่าง ๆ มีการทำสัญญาปีต่อปี แต่มีเมื่อปีก่อนไม่ได้ต่อสัญญา แต่ก็ให้ทำงานมาเรื่อยๆ   ต่อมาปีหน้าทางบริษัทมีโครงการที่จะปรับให้พนักงานสองท่านนี้ ไม่ถือเป็นพนักงานบริษัท และอาจจะไม่มีสวัสดิการใด ๆ เหมือนแต่ก่อน แต่จะให้เป็นเหมือนการจ้างพนักงานเป็นรายวันหรือพนักงานชั่วคราวไปและไม่ถือเป็นพนักงานของบริษัท  แบบนี้ทำได้หรือค่ะ

2. ปัจจุบัน มีการว่าจ้างตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่นทำงานคล้าย ๆ เสมียนหรือพนักงานออกเอกสาร/จัดสินค้าจ่ายเป็นรายวัน แต่รวบรวม 15 วันจ่านที หรือบางตรั้งก็จ่ายเดือนครั้งค่ะ ไม่มีการให้สวัสดิการใด ๆ รวมทั้งไม่มีการหักประกันสังคม   แบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าค่ะ มีสิทธิทำได้หรือไม่ค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ



ผู้ตั้งกระทู้ หมวย โพสต์และแสดงความเห็นเฉพาะสมาชิกเท่านั้น :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-27 14:15:49 IP : 203.146.113.67


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3256917)

สวัสดีครับ

         ๑) พนักงานทำงานตำแหน่งแม่บ้าน  และพนักงานรับส่งเอกสาร   ดังกล่าว  ตามข้อเท็จจริง  ถือว่าเป็นลูกจ้างครับ  มีสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย   การทำสัญญาจ้างปีต่อปีมาเรื่อย ๆ หรือเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วไม่ได้ต่อสัญญา  ทั้งสองกรณีถือว่าเป็นสัญญาจ้างแบบไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน

         กรณีหากต้องการเปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานทั้งสอง  ไปเป็นการเหมาค่าแรง หรือตามผลงาน   ในลักษณะจ้างทำของนั้น  ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง   ไม่สามารถทำได้ครับ  ถือว่าขัดต่อกฎหมาย

         หากต้องการปรับเปลี่ยนจริง ๆ ต้องเลิกจ้าง    จ่ายค่าชดเชยและสิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย    เพื่อให้สิ้นสุดสัญญาจ้าง  สิ้นสุดความเป็นลูกจ้างนายจ้างเสียก่อน   หลังจากนั้นหากพนักงานตกลงยินยอมด้วย   สามารถทำเป็นสัญญาจ้างทำของได้  หมายถึง  จ้างให้ทำความสะอาด  หรือจัดหาคนมาทำความสะอาด  (แม่บ้าน) และจ้างรับส่งเอกสาร  อาจคำนวณเป็นเที่ยวหรือระยะทางได้  ตามผลงาน   ซึ่งทั้งสองกรณี  ต้องไม่เข้าข่ายการจ้างแรงงาน   เช่น  ไม่จำเป็นต้องเข้างานตามเวลาปกติ   ไม่ต้องตอกบัตรเข้าออก  ไม่สามารถลงโทษ  หรือบังคับบัญชาตามข้อบังคับได้   หากทั้งสองคนไม่มาทำงาน   สามารถส่งคนอื่นมาทำงานแทนได้  เพื่อให้งานเสร็จ   เป็นต้น   

         ๒) การกระทำตามข้อ ๒ นี้  ถือว่าขัดต่อกฎหมายครับ  เพราะลักษณะการทำงานเข้าข่ายเป็นสัญญาจ้างแรงงาน  ดังนั้น  นายจ้างมีหน้าที่ต้องนำรายชื่อส่งเข้าระบบประกันสังคม  หากไม่ส่งมีความผิด  มีโทษทั้งจำและปรับ     และลูกจ้างมีสิทธิได้รับสวัสดิการหรือสิทธิอื่น ๆ ขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย   ด้วยความเป็นธรรมและเท่าเทียมเทียมกันกับพนักงานทั่ว ๆ ไป ตามตำแหน่ง  หน้าที่  ความสามารถ หรืออายุงาน  ของแต่ละคน   การที่ไม่จัดสวัสดิการให้เลย  ถือว่าเป็นการจัดสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม  ตามมาตรา ๑๑/๑ (พรบ.คุ้มครองแรงงาน ๕๑)  ลูกจ้างมีสิทธิไปฟ้องศาลให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ได้ครับ         

ผู้แสดงความคิดเห็น ไสว วันที่ตอบ 2010-10-27 15:53:45 IP : 58.9.127.78



[1]


Copyright © 2010 All Rights Reserved.